เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

การเติบโตของกล้อง Mirrorless ทั่วโลก โดยเฉพาะ Sony A7 ทำให้ผู้ผลิตเลนส์อิสระทุกค่ายเริ่มต้องหันมาผลิตเลนส์เมาท์ Sony FE และ Sony E เพื่อแย่งชิงตลาดที่กำลังเติบโตนี้กันทุกค่าย Tokina เองที่เน้นการผลิตเลนส์ซูมมุมกว้างในฟอร์แมท APS-C ก็ยังทนไม่ได้ ต้องกระโดดร่วมวงเข้ามาด้วย โดย Tokina ได้ผลิตเลนส์อนุกรมใหม่ Tokina Firin เป็นอนุกรมสำหรับกล้อง Mirrorless ขนาด Full Frame รองรับกล้องในตระกูล Sony A7 ซึ่ง Tokina Firin จะรองรับกล้องที่มีความละเอียดสูงระดับ 50 ล้านพิกเซลขึ้นไป ให้ภาพกำลังแยกขยายสูง คมกริปตั้งแต่กว้างสุดจากกลางภาพไปยันขอบภาพ มีความคลาดสีต่ำ แต่ยังทำงานร่วมกับตัวกล้องได้อย่างสมบูรณ์เพราะมี Contact ที่สามารถส่งข้อมูลจากเลนส์ไปยังตัวกล้องได้สมบูรณ์เช่นเดียวกับการใช้เลนส์ของ Sony เองอีกด้วย Tokina Firin จะมีออกมาหลายรุ่น ทั้ง Zoom, Prime แบบ Ultra-Wide Angle ช่องรับแสงกว้าง ซึ่งเป็นช่วงที่ขาดมากสำหรับตระกูล Sony A7

Tokina Firin 20 mm. F2 เป็นเลนส์แบบ Manual Focus ที่รองรับทั้งการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ ตัวเลนส์ออกแบบได้คลาดสสิคมาก คล้ายๆ กับ Leica R ในอดีต ตัวบอดี้เป็นโลหะทั้งหมด ตัวอักษรใช้ยิงเลเซอร์ลงไปในเนื้อโลหะ มีสเกลแสดงความชัดลึก ระยะชัดแบบฟุตและเมตร วงแหวนโฟกัสใช้เซาะร่องโลหะเป็นลายเพื่อให้ติดมือเวลาหมุน และไม่ต้องกังวลเรื่องยางบวมด้วย มีวงแหวนปรับขนาดช่องรับแสงที่ปรับได้ทั้งแบบ Step และ Stepless สำหรับงานวิดีโอ มีฮูดทรงเหลี่ยมหล่อเหลา เมาท์โลหะและมีคอนแทกไฟฟ้าเพื่อส่งข้อมูลต่างๆ ไปยังตัวกล้องด้วย ระบบโฟกัสแม้จะเป็นแบบแมนนวล แต่ใช้งานได้ไม่ยากและแม่นยำ เมื่อหมุนวงแหวนโฟกัสกล้องจะขยายภาพที่ 100% เพื่อให้โฟกัสได้อย่างแม่นยำที่สุด พอกดชัตเตอร์ลงไปภาพจะย่อลงมาตามปกติ ตัวกล้องจะบอกระยะโฟกัสให้ตรงกับตัวเลนส์เป๊ะๆ เวลาโฟกัสที่สุดสายตาก็ตรงตำแหน่งเสกลอินฟินิตี้ ถ่ายภาพดาวสบายๆ

ตัวเลนส์มีขนาด ยาว 81.5 มิลลิเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 69 มิลลิเมตร น้ำหนัก 490 กรัม จำนวนชิ้นเลนส์ 13 ชิ้นแบ่งเป็น 11 กลุ่ม ช่องรับแสงกว้างสุด F2 แคบสุด F22 มุมการรับภาพ 92 องศา โฟกัสใกล้สุด 28 เซนติเมตร ขนาดฟิลเตอร์ 62 มม. ชิ้นเลนส์พิเศษแบบ SD สำหรับแก้ความคลาดสี 3 ชิ้น และชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมจำนวน 2 ชิ้น ทั้งหมดเคลือบผิวลดแสงสะท้อนโดยใช้เทคโนโลยีล่าสุดของ Tokina ชิ้นเลนส์มีความใสเคลียร์มาก แสงสะท้อนกลับบางๆ เท่านั้นบ่งบอกถึงคุณภาพการโค้ทผิวเลนส์ของ Tokina ได้เป็นอย่างดี ตัวเลนส์ยังคงทำในญี่ปุ่นเพื่อคุณภาพสูงสุดเหมือนรุ่นอื่นๆ ของ Tokina

 

ทดสอบ Tokina Firin 20 mm. F2 กับชาร์จทดสอบ

เมื่อดูค่า MTF Curve ของ Tokina Firin จะเห็นว่าเป็นเลนส์มุมกว้างที่ให้ภาพคมมากทั้งกลางและขอบภาพ ในระดับเดียวกับ Zeiss Batis และ Zeiss Loxia ผมทดสอบเลนส์โดยการถ่ายชาร์จทดสอบพบว่าเลนส์ให้ความคมชัดยอดเยี่ยมมากที่กลางภาพตั้งแต่กว้างสุด ส่วนขอบภาพลดลงไปเล็กน้อย แค่หรี่ช่องรับแสงมาที่ f/2.8 ก็ได้ขอบภาพที่กริปมากๆ งานประกอบ Optic ดีมากๆ  ความคมชัดของขอบภาพทั้ง 4 มุมเท่ากัน (ถ้างานประกอบไม่ดีพอจะชัดไม่เท่ากันทั้ง 4 มุม) มี Distotion น้อยมากๆ แบบโค้งเข้า (ส่วนหนึ่งแก้โดย Firmware) การแยกแยะรายละเอียดยอดเยี่ยมมีความคลาดสีที่ขอบภาพน้อยมากๆ และมีอาการ Come Flare น้อยมากๆ ด้วยเช่นกัน เลนส์ Tokina Firin 20 mm. F2 ใช้ถ่ายภาพดาวได้อย่างดีเยี่ยมเพราะ Coma Flare น้อย ดาวจึงไม่พุ่งเป็นหางแบบเลนส์มุมกว้างช่องรับแสงกว้างทั่วไป

การคุมแสงแฟลร์และแสงฟุ้งเป็นจุดเด่นมากของ Tokina Firin 20 mm. F2 เวลาถ่ายภาพย้อนแสงจะแฟลร์และโกสอิมเมจมากวนน้อยมากๆ ใกล้เคียงกับ Loxia เลยทีเดียว ผมสามารถถ่ายภาพย้อนแสงแรงๆ แล้วมาดึงรายละเอียดส่วนเงาได้สบายๆ ตัวเลนส์ให้คอนทราสการแยกแยะได้ดีมากโดยเฉพาะในส่วนเงามืด ซึ่งสำคัญมากกับเลนส์มุมกว้าง เวลาดึงจะรักษาระดับโทน รายละเอียดขึ้นดี และไม่เกิดภาพหลอนในเงา หากเป็นเลนส์ที่โค้ทไม่ดีมากพอเวลาดึงจะเกิดภาพหลอนในเงามืดชัดเจนทีเดียว

 

การใช้งานภาคสนาม

ผมนำ Tokina Firin 20 mm. F2 ไปถ่ายภาพเวลาไปเที่ยวไว้เยอะอยู่พอสมควรทีเดียวเวลาเอา Sony A7RII ไปด้วย ทางยาวโฟกัส 20 มม. อาจจะดูน้อยไปนิดในการถ่ายภาพดาว แต่ก็เป็นช่วงที่ลงตัวสำหรับคนที่อาจจะไม่คุ้นกับเลนส์กว้างมากๆ เวลาถ่ายภาพทิวทัศน์จะไม่โหรงเหรงมากนัก ในอนาคตอาจจะมีรุ่นที่กว้างกว่านี้มาเสริมทัพคราวนี้พวกชอบถ่ายภาพดาวสนุกแน่นอน   

ในการใช้งานภาคสนาม Tokina Firin 20 mm. F2 ใช้งานได้คล่องตัวมาก ขนาดตัวเลนส์ไม่ถือว่าหนักนัก วงแหวนโฟกัสหนืดกำลังดี ไม่ลื่นเกินไปและไม่หนืดเกินไป ทำให้โฟกัสควบคุมง่ายเวลาถ่ายภาพวิดีโอ ผมชอบตั้งช่องรับแสงไว้แบบ Stepless จะสามารถควบคุมแสงได้ละเอียดแบบไร้ขั้น เวลาถ่ายวิดีโอปรับแสงจะเนียนมาก การโฟกัสละเอียดและแม่นยำ ผมตั้งให้กล้อง Sony A7RII ขยายภาพ 100% เวลาหมุนวงแหวนโฟกัสอัตโนมัติ พอกดชัตเตอร์ก็จะกลับมาที่ขนาดปกติ อันนี้ใช้งานสะดวกมากๆ ความเป็นเลนส์มุมกว้างทำให้โฟกัสไม่ได้หมุนเยอะมากเหมือนเลนส์เทเลโฟโต้ ไม่เป็นภาระแม้จะเป็นโฟกัสแบบแมนนวล

ผมนำเลนส์ไปถ่ายภาพที่ดอยอินทนนท์เป็นทริปแรก ถ่ายภาพน้ำตกวชิรธารที่ช่องรับแสง F8 ภาพที่ได้คมกริปและรายละเอียดสูงมาก กลางภาพสามารถแยกรายละเอียดเห็นใบไม้เป็นใบๆ ไล่ไปยังสุดขอบภาพก็ยังให้ความคมชัดกริปมากๆ อาการบิดของภาพน้อยมากด้วย ปกติรายละเอียดแบบนี้ต้องใช้เลนส์คุณภาพเทพๆ อย่าง Zeiss ต้องบอกว่า Tokina ทำได้เยี่ยมมากๆ มุมภาพอาจจะน้อยไปนิดสำหรับการถ่ายภาพน้ำตกวชิรธาร ซึ่งน้ำตกใหญ่มากและไม่มีที่ถอยไกลสักเท่าไร การคุมแสงแฟลร์ยอดเยี่ยม ไม่มีแสงฟุ้งจากท้องฟ้าเข้ามากวนเลย รายละเอียดส่วนสว่างเก็บได้ยิบย่อยมาก คอนทราสดีมาก ส่วนเงาก็แยกและรายละเอียดได้กริปมาก ระหว่างถ่ายภาพโดนละอองน้ำเปียกโชกเหมือนกัน ตัวเลนส์ไม่ระบุว่ากันน้ำหรือเปล่า แต่ก็ไม่ได้เกิดปัญหาระหว่างใช้งานและหลังใช้งานจบแล้ว ผมไปถ่ายภาพที่ยอดดอย วันนั้นอากาศหนาวพอควร ระยะโฟกัสของเลนส์ยังตรงเป๊ะแม้อยู่ในสภาพอากาศเย็น สเกลกระบอกเลนส์กับตัวกล้องตรงกัน สามารถดูระยะที่ตัวกล้อง Sony A7 ได้เลย ผมตั้งกล้องถ่ายภาพหมอกไหลเป็น TimeLapse

ทริปต่อมาผมไปทำงานที่จันทบุรี ไปถ่ายภาพป่าโกงกาง แสงค่อนข้างแตกต่างมากและย้อนแสงแรง เลนส์ยังแยกแยะรายละเอียดดีมาก เรียกว่าหาเลนส์มุมกว้างที่แยกรายละเอียดได้ดีกว่านี้คงหายากมากแล้ว มีอาการคลาดสีนิดหนึ่งที่ขอบภาพและมีการอาการแสงฟุ้งออกเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าไม่ขยาย 100% จะมองไม่เห็น จากนั้นผมไปถ่ายภาพโบสถ์เก่าโดยใช้ ND1000 เพื่อให้ดูเมฆเคลื่อน การโฟกัสแม้ใช้ ND1000 ทำได้ง่าย แนะนำให้เปิดช่องรับแสงกว้างสุดแล้วโฟกัส ลงแล้วค่อยหรี่ช่องรับแสงไปยังค่าที่ต้องการใช้อีกทีหนึ่งจะได้โฟกัสแม่นสุดและทำงานง่ายด้วย

ผมได้ไปถ่ายภาพทุ่งทานตะวัน แต่ไม่ได้ถ่ายกลางวัน เป็นภาพกลางคืนด้วยแสงจันทร์ ความสว่างระดับ F2 ทำให้ถ่ายภาพได้สบายๆ ใช้ ISO 100 ถ่ายภาพที่ f/11 ชัตเตอร์ 2 วินาทีเท่านั้น ภาพมีรายละเอียดส่วนเงาเต็มที่อย่างกับภาพกลางวันทีเดียว ถ้าไม่มีดวงจันทร์ในภาพนี่ไม่รู้เลยว่าเป็นภาพกลางคืน สีสันที่ถ่ายทอดออกมาดีเยี่ยม ผมไปต่อที่ถ้ำเทวาพิทักษ์ ช่วงที่ไปแสงไม่สวยนัก แสงทึมมากๆ ใช้ไฟฉายที่หัวช่วยเพิ่มแสงเงาส่วนหนึ่ง ตอนถ่ายภาพออกมาหลังกล้องส่วนมืดดำมาก ผมต้องใช้ไฟล์ RAW ดึงส่วนมืดให้ขึ้นรายละเอียด ความยอดเยี่ยมของเลนส์ Tokina Firin 20 mm. F2 เมื่อใช้กับกล้อง Sony A7RII คือให้รายละเอียดส่วนมืดมีความเปรียบต่างสูงส่งผลให้แยกรายละเอียดได้ดีมาก ส่วนสว่างไม่เกิดอาการฟุ้งออก คมกริปๆ เลยทีเดียว จากนั้นผมไปถ่ายภาพดาวที่วัดป่าสว่างบุญแต่ฟ้าไม่เป็นใจเท่าไรนัก มีเมฆบางๆ มาบังดาว ผมเอา Tokina Firin 20 mm. F2 ถ่ายดาวที่ช่องรับแสงกว้างสุด ได้ดาวมากกว่าที่ตาเห็นเสียอีก

ผมเอา Tokina Firin 20 mm. F2 ไปเที่ยวเชียงใหม่อีกครั้งที่ดอยม่อนจอง ก่อนถึงม่อนจองแวะถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกกลางทุ่งนาที่ทางไปน้ำตกแม่ยะ ช่วงพระอาทิตย์ชนยอดเขาได้แฉกดวงอาทิตย์ดีทีเดียว แม้ไม่ได้เปิดช่องรับแสงแคบสุดก็ได้แฉกสวยทีเดียวความคมของเลนส์ยอดเยี่ยมมากสามารถนับต้นข้าวทั้งภาพได้เลย ไปดอยม่อนจองเป็นช่วงเดือนมืดฟ้าเปิด เลยได้ถ่ายภาพดาวสมใจแบบอลังการมาก ผมเปิดช่องรับแสงกว้างสุด F2 ได้ดาวเต็มฟ้าแบบนับดาวกันไม่ถูกเลยทีเดียว การถ่ายภาพให้ดาวติดเยอะต้องใช้เลนส์ช่องรับแสงกว้าง การเพิ่มความไวแสงไม่มีผลโดยตรงให้ดาวติดมากขึ้น ต้องใช้ช่องรับแสงกว้างจึงจะได้ผลที่ชัดเจน จากนั้นก็กลับบ้านที่เชียงใหม่ลองถ่ายภาพบ้านดู Distortion จะเห็นว่าเส้นตรงนี่เป๊ะมาก ผมดึงรายละเอียดเล็กน้อยจาก RAW File ภาพเนียนๆ เลย ขากลับไปแวะพระธาตุหริภุญชัยเพื่อถ่ายภาพช่วงโพล้เพล้ สีทองยามเย็นนี่สวยมากๆ รายละเอียดกริปๆ สุดติ่ง ถ้าจะเอาดีกว่านี้ก็ต้องไป Medium Format แล้วละ ผมเอา Tokina Firin 20 mm. F2 ไปถ่ายภาพดาวที่ดอยลังกาด้วย ฟ้าไม่ใสนักแต่ติดดาวอลังการมาก มากจนรู้สึกว่ามันเยอะไปหน่อยไหม วันหน้าสงสัยต้องไปถ่ายที่ F2.8 ดาวจะได้น้อยลงสักหน่อย

สรุป

Tokina Firin 20 mm. F2 เป็นเลนส์มุมกว้างที่มีคุณภาพสูงมากรองรับกล้องพิกเซลสูงระดับ 50 ล้านได้สบายๆ ความคมชัดการแยกรายละเอียดดีเยี่ยมทั้งกลางและขอบภาพ มี Distortion ต่ำมาก คุมแฟลร์และโกสอิมเมจได้ยอดเยี่ยม ความคลาดสีน้อย โครงสร้างแข็งแรง และเป็นเลนส์แมนนวลที่ใช้งานได้สะดวกมากกับ Sony A7 ราคาค่าตัวถือว่าคุ้มมากสำหรับเลนส์มุมกว้างคุณภาพระดับนี้ เป็นเลนส์ที่ผมจะติดตัวไปถ่ายภาพด้วยทุกที่ไม่เคยให้ภาพที่ผิดหวังเลย ส่วนข้อด้อยก็คงมีเพียงเป็นเลนส์ MF สำหรับคนที่อยากได้เลนส์ AF และฮูดเป็นทรงเหลี่ยมที่หล่อมากแต่ถอดใส่ฝาปิดหน้าเลนส์ลำบากไปนิ๊ดดดนึง