เรื่อง+ภาพ : นพดล…
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 258/2019 March
ถามกันมาอยู่เสมอเกี่ยวกับเลนส์ Wide แถมต้องการเลนส์ Wide มากๆ ซะด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนที่ชมชอบถ่ายภาพในแนว Landscape รวมถึงเพื่อนที่ชอบถ่ายภาพดาวหมุน หรือ ถ่ายทางช้างเผือก ปัญหาก็คือ บรรดาเลนส์มุมกว้างมากๆ ระดับ Super wide นั้นมีราคาที่ค่อนข้างสูง วันนี้ก็มีเลนส์ประเภท ไวด์…ไว้ด์…ไวด์…มาฝาก…ในราคาที่สัมผัสได้…
Laowa 10-18 mm. F4.5-5.6 FE Zoom คือ เลนส์ที่ผมนำมาแนะนำกันในรอบนี้ Laowa 10-18 mm F4.5-5.6 FE Zoom เป็น Wide Angle Lens ระดับ Super Wide Angle เลยทีเดียว ที่น่านำติดตัวใช้งานก็คือ เป็น Super Wide Angle Lens แบบเลนส์ Zoom ที่มีช่วงมุมกว้างของเลนส์ 10 มม. จนถึง 18 มม. ซึ่งทำให้การควบคุมมุมภาพสามารถทำงานได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น มีมุมรับภาพกว้างตั้งแต่ 102-130 องศา เลยทีเดียว
Laowa 10-18 mm. F4.5-5.6 FE Zoom เป็นเลนส์ Manual focus ปรับโฟกัสภาพเอง เม้าท์เลนส์เป็น FE เม้าท์ สำหรับใช้งานกับกล้อง Sony สามารถใช้งานได้กับกล้องที่ติดตั้งเซ็นเซอร์แบบ Full Frame ขนาด Zoom ของเลนส์ สามารถใช้งานได้ตั้งแต่เลนส์มุมกว้าง 10 มม. ถึงเลนส์มุมกว้าง 18 มม. ด้วยขนาดรูรับแสง F4.5-5.6
โครงสร้างของเลนส์ Laowa 10-18 mm. F4.5-5.6 FE Zoom ประกอบด้วยชิ้นเลนส์ 14 ชิ้น แบ่งออกเป็น 10 กลุ่ม มีชิ้นเลนส์พิเศษ คือ Extra-low Dispersion เพื่อลดความคลาดสี 1 ชิ้น ชิ้นเลนส์ Aspherical 2 ชิ้น เพื่อลดความคลาดทรงกลม ทำให้ภาพคมชัดทั่วทั้งภาพ และเลนส์ชิ้นหน้าเป็น Coating พิเศษแบบ Frog Eye Coating
Diaphragm แบบ 7 กลีบ ให้ Star effect เป็น 10 แฉก ที่สวยงาม มีระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 150 มม. อัตราขยาย 1 : 4
สามารถใส่ฟิลเตอร์แบบเกลียวได้ที่ด้านหลังของเลนส์ เป็นฟิลเตอร์ขนาด 37 มม.
ขนาดของเลนส์ 70 x 90.9 มม. น้ำหนัก 496 กรัม
สัมผัส ทดลอง ใช้เลนส์
สัมผัสแรกกับเลนส์ Laowa 10-18 mm. F4.5-5.6 FE Zoom สิ่งแรกที่รู้สึกได้ก็คือ เลนส์รุ่นนี้น้ำหนักเบามาก ขนาดกะทัดรัดมาก เมื่อเทียบกับเลนส์ซูมประเภท Super Wide ที่ส่วนใหญ่น้ำหนักเกือบ 1 กิโลกรัม หรือ กิโลกว่านิดหน่อย
งานการผลิตเม้าท์ เป็นเม้าท์โลหะ ส่วนเม้าท์มีความสูงกว่าปกตินิดหน่อย เพื่อให้ใช้สวมฟิลเตอร์ขนาด 37 มม. ได้ ชิ้นเลนส์ด้านหน้าโค้งนูน พร้อม Hood แบบกลีบดอกไม้ติดเลนส์ถอดไม่ได้
ตัวเลนส์เป็นโลหะ งานเรียบร้อยดีมาก มีแหวนปรับ 3 วงแหวน วงแหวนหน้าสุด สำหรับปรับโฟกัสภาพ (เลนส์รุ่นนี้เป็น Manual focus อย่างเดียว) แสดงระยะโฟกัสเป็นเมตร และฟุต วงแหวนที่สอง เป็นวงแหวนสำหรับการปรับซูมเลนส์ มีสเกลชัดเจน ตั้งแต่ระยะ 10 มม. ถึง ระยะ 18 มม. ส่วนวงแหวนในสุด เป็นวงแหวนสำหรับการปรับตั้งค่ารูรับแสง ตั้งแต่ 4.5 (5.6) ถึง f22 ที่เป็นขนาดรูรับแสงที่แคบสุด
ในการทดลองกับเลนส์รุ่นนี้ ก็ขอชี้แจงก่อนว่า ก่อนหน้าที่จะทดสอบกับเลนส์รุ่นนี้ มีหลายท่านบอกมาว่า เลนส์รุ่นนี้ ไม่ค่อยคม การเก็บรายละเอียดได้ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งผมก็รับฟังไว้
ก็ขอทำความเข้าใจก่อนที่ตรงนี้ว่า การออกแบบสำหรับเลนส์ Super Wide Angle สิ่งที่ยากมากๆ ก็คือ การทำให้เลนส์มีความคมชัด และเก็บรายละเอียดได้เท่ากันตลอดจากกลางภาพถึงขอบภาพ 1 เรื่องละ เรื่องที่สองก็คือ การลดความคลาดสีที่มักเกิดตามขอบภาพอีกเหมือนกัน และประการที่สาม คือ อาการขอบภาพมืด ทั้ง 3 เรื่องนี้ถ้าต้องออกแบบเลนส์ระดับนี้ให้มีคุณภาพสุดยอดตามต้องการ ปัญหาก็คือ น้ำหนักเลนส์ และ ราคาของเลนส์จะวิ่งสูงตามกันไปด้วย ซึ่งคงไม่สะดวกนักสำหรับการหาซื้อและพกติดตัวใช้งาน หลายๆ ค่าย จึงพยายามออกแบบเลนส์ให้มีสมรรถนะสูงที่สุดเท่าที่เป็นได้ในราคาที่รับกันได้ครับ
การใช้งานกับเลนส์รุ่นนี้ เนื่องจากเป็นเลนส์แบบ Manual focus การได้ภาพที่ชัดไม่ชัดเบื้องต้นก็คือ การโฟกัสภาพ สำหรับนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ที่ไม่เคยคุ้นเคยกับเลนส์ประเภทนี้ การจะถ่ายภาพให้ชัดจึงเป็นปัจจัยแรกที่ต้องหัดใช้ครับ ผมขอใช้คำว่าหัดใช้ เนื่องจากการแสดงภาพระหว่าง Manual focus แม้ว่าในกล้องจะมีตัวช่วย ก็ยังไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้ภาพคมชัดคำแนะนำของผมก็คือ วิธีแรก คือ เปิดระบบ Peaking Setting ในเมนู เพื่อให้แสดงผลของการโฟกัส รวมทั้ง เปิด Focus Magnifier ช่วยในการหมุนโฟกัส แต่ระบบ Focus Magnifier บนกล้อง Sony เมื่อใช้กับเลนส์รุ่นนี้ ต้องเปิดที่ละครั้ง ถ่ายเสร็จจะถ่ายใหม่ก็ต้องเปิดใหม่ เนื่องจากเลนส์และกล้องไม่มีจุดสัมผัสเชื่อมถึงกัน แม้จะดูยุ่งยากหน่อย แต่สำหรับภาพวิวงามๆ สำคัญ คุณจะได้ภาพที่โฟกัสชัดแน่นอน การใช้ Peaking อย่างเดียวระยะชัดอาจจะพลาดได้ครับ
วิธีที่ 2 ดูจะสะดวกกว่า แต่ต้องอาศัยความชำนาญในการถ่ายภาพ นั่นคือ การใช้สเกลระยะชัดบนตัวเลนส์มาเป็นตัวกำหนดระยะชัด วิธีนี้ดูแล้วจะง่ายกว่า แต่การถ่ายภาพกับการกำหนดระยะต้องแม่นยำ และควรจะใช้ ขนาดรูรับแสงที่แคบมากขึ้นช่วย ซึ่งคุณก็จะได้ภาพที่คมชัดในการถ่ายภาพด้วยเลนส์รุ่นนี้ ซึ่งไม่ยากครับ ถ้าใช้จนชิน ทุกอย่างก็จะง่ายทันทีที่ต้อง
การถ่ายภาพ
ที่บอกมาตามนี้ เพื่อให้มั่นใจก่อนว่า ภาพที่ถ่ายจากเลนส์รุ่นนี้ ถ่ายมาชัดแน่นอน แล้วจึงจะนำภาพมาพิจารณาในเรื่องคุณภาพครับ เพราะถ้าถ่ายมาแล้วไม่ชัดเสียแต่แรก ก็ไม่สามารถดูคุณภาพได้
ผลการทดสอบ
ผมทดสอบเลนส์รุ่นนี้ด้วยการถ่ายภาพ งานบอลลูน ทำเลนส์ไวด์มากๆ เป็นเลนส์ที่มีโอกาสได้ภาพงามๆ ของเทศกาลบอลลูนได้ งานนี้จัดที่ ไร่บุญรอด สิงห์ ปาร์ค เชียงราย และ ถ่ายภาพที่วัดร่องเสือเต้น จังหวัดเชียงราย เหมือนกัน จากภาพถ่ายที่ได้เมื่อขยายภาพดูจะพบว่า
ในเรื่องของความคมชัดของเลนส์ จัดเป็นเลนส์รุ่นหนึ่งที่มีความคมชัดดีครับ แต่ไม่ได้คมจัด (ถ้าต้องการคมปรับภาพอีกนิดหน่อยคมมากเลย) การเก็บรายละเอียดดี ให้สีสันที่สดใสดี
ในเรื่องความคมชัดทั่วทั้งภาพ พบว่าที่ f4.5-5.6 ความคมชัดที่ขอบภาพลดลง ที่ f8 ความคมชัดที่ขอบภาพดีขึ้น ที่ f11 ขึ้นไป ภาพที่ได้น่าพอใจมากเลยทีเดียว
อาการคลาดสี จากภาพที่ถ่ายทำการขยายภาพดูทั่วถึงขอบภาพ ที่น่าทึ่งกับเลนส์รุ่นนี้ ซึ่งเป็นเลนส์ Super Wide Zoom ซึ่งปกติขอบภาพจะคลาดสีมาก แต่เลนส์รุ่นนี้ คลาดสีต่ำกว่าที่คาดมากเลยทีเดียว มีอาการคลาดสีอยู่เล็กน้อยบริเวณขอบภาพ
อาการขอบภาพมืด มีอาการขอบภาพมืดเล็กน้อยที่ขอบ เมื่อใช้ขนาดรูรับแสงที่ค่อนข้างแคบ แต่ไม่มากเช่นกัน
บทสรุป
ผมเชื่อว่าผู้ผลิต มีความตั้งใจมากกับเลนส์รุ่นนี้ในการผสมผสานคุณภาพให้สูงสำหรับการใช้งาน ร่วมกับ การออกแบบเลนส์ให้มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบาไม่เป็นภาระในการพกพา ทั้งยังคำนึงถึงระดับราคาไม่ให้สูง ในขณะที่เป็นเลนส์ที่ต้องรองรับเซ็นเซอร์แบบ Full frame ในราคาเปิดตัวที่ 30,900.00 บาท เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเลนส์ในขนาดมุมกว้างที่ใกล้ๆ กันแล้วจะพบว่ามีราคาที่สูงกว่ากันมากเลยทีเดียวครับ