เรื่อง+ภาพ : นพดล

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 240/2017 September

ข่าวล่าสุด… Sony A9 ได้รับเลือกให้เป็น กล้องยอดเยี่ยมแห่งปี จาก EISA [European Imaging and Sound Association] รางวัลกล้องยอดเยี่ยมแห่งปี ของ EISA ถือว่าเป็นรางวัลเกียรติยศของวงการกล้องถ่ายภาพในโลก ที่ผู้ผลิตกล้องในโลกต่างก็แข่งขันพัฒนาผลิตกล้องถ่ายภาพเพื่อให้ได้รับรางวัลนี้

Sony A9 เป็นกล้อง Mirrorless รุ่นล่าสุดที่ Sony แนะนำเข้าสู่ตลาด จัดเป็นกล้องระดับ High End เหมาะสำหรับนักถ่ายภาพมืออาชีพ และนักถ่ายภาพที่ต้องการกล้องสำหรับภาพคุณภาพสูง ที่มีความไวเป็นพิเศษ Sony A9 ติดตั้งเซ็นเซอร์แบบ Full frame ที่ใช้นวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า Full Frame Stacked Exmor RS ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของโซนี่ เป็นเซ็นเซอร์แบบ CMOS ที่มีความละเอียดสูง 24.2 ล้านพิกเซล

คุณลักษณะเด่นของ Sony A9

CMOS Sensor แบบ Full Frame Stacked Exmor RS มีความละเอียดสำหรับการใช้งานเต็มที่ 24.2 ล้านพิกเซล เป็นเซ็นเซอร์รุ่นใหม่ล่าสุดที่โซนี่พัฒนานำมาใช้ใน Sony A9 เซ็นเซอร์รุ่นนี้ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของโซนี่ ที่นอกเหนือจากเป็นเซ็นเซอร์แบบ Back-Illumination และ เป็น Gapless on-chip lens แล้ว ยังมี Stacked Structure Designed สำหรับการอ่านข้อมูลแบบ high speed สามารถอ่านข้อมูลได้เร็วกว่า Sony 7 II ถึง 20 เท่า ด้วยการออกแบบ ให้มีชั้นของวงจรแยกจากชั้นของ Pixel รวมทั้งมีหน่วยความจำสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับข้อมูลจำนวนมากๆ สำหรับการประมวลผล เมื่อทำงานร่วมกับ Image sensor แบบ BIONZ X ที่สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ทำให้ SONY A9 สามารถตั้งความไวแสงสำหรับการใช้งานได้สูงตั้งแต่ ISO 100-51200 โดยมี Noise ต่ำ สามารถปรับลดได้เทียบเท่า ISO 50 หรือ ปรับเร่งได้สูงเทียบเท่า ISO 204800

4D FOCUS ระบบโฟกัสของ Sony A9 เป็นแบบ 4D FOCUS ที่เป็นเอกลักษณ์ของโซนี่ มีคุณสมบัติเด่นอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ

ประการแรก ใน Sony A9 มีกรอบโฟกัสที่กว้างมากเป็นพิเศษในระบบ Phase Detection มีจุดโฟกัสภาพมากถึง 693 จุด ครอบคลุมพื้นที่ถึง 93% ของกรอบภาพ สามารถจับภาพวัตถุได้แม่นยำแม้วัตถุจะอยู่ที่ขอบภาพ

ประการที่สอง ระบบโฟกัสแบบ Fast Hybrid AF System ที่ทำงานร่วมกันระหว่าง Phase Detection ที่มีจุดโฟกัสมากถึง 693 จุด ร่วมกับ Contrast Detection ที่มีพื้นที่โฟกัสมากถึง 25 พื้นที่ ในการตรวจจับ Contrast ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

ประการสุดท้าย Steadfast สามารถตรวจจับวัตถุ และโฟกัสติดตามวัตถุได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ด้วยการคำนวณระยะโฟกัสอัตโนมัติติดต่อกันถึง 60 AF ต่อวินาที 

มั่นใจได้ว่า จะไม่พลาดช็อตสำคัญ  Sony 9 โฟกัสได้เร็วและแม่นยำทุกจังหวะของการเคลื่อนไหวในการถ่ายภาพ

ถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงถึง 20 ภาพต่อ วินาที Blackout-free ขณะถ่ายภาพ กล้อง Sony A9 สามารถตั้งการถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงสุดถึง 20 ภาพต่อวินาที เมื่อตั้งการถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ Hi ที่ความเร็วชัตเตอร์สูงกว่า 1/125 วินาที สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องเมื่อตั้งชนิดไฟล์แบบ Compress RAW ติดต่อกันได้ 241 ภาพ และตั้งไฟล์ภาพแบบ JPEG ติดต่อกันได้ 362 ภาพ โดยไม่สะดุด (ทดสอบจาก Memory card UHS-II ของ Sony) 

จุดเด่นของระบบถ่ายภาพต่อเนื่องได้ 20 ภาพต่อวินาที ของกล้อง Sony A9 ก็คือ ระบบ Blackout-free ไม่มีอาการมืดในช่องมองภาพ ซึ่งแตกต่างจากกล้อง D-SLR ทั่วไป ที่ระหว่างถ่ายภาพจะปรากฏอาการมืดสลับกันในช่องมองภาพ ซึ่งเกิดจากการกระดกขึ้นลงของชุดกระจกในกล้อง แต่ในระบบ Mirrorless ไม่มีชุดกระจก Sony A9 ได้พัฒนาการแสดงภาพในช่องมองภาพให้สามารถเห็นต่อเนื่องได้โดยไม่มีอาการมืดในช่องมองภาพ และไม่มีอาการผิดเพี้ยนรูปทรงอีกด้วย

ถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงถึง 20 ภาพต่อวินาที

Continuous AF/AE calculation ในการถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูงรวมทั้ง Tracking ตามวัตถุ ปัจจัยสำคัญก็คือ ความแม่นยำในเรื่องระบบ โฟกัส และค่าของแสงในการถ่ายภาพ โซนี่ได้พัฒนาระบบประมวลผลที่ให้ความแม่นยำและรวดเร็วมาให้สัมพันธ์กับการถ่ายภาพ ด้วยการประมวลผลอย่างรวดเร็วถึง 60 ครั้งต่อวินาที ทำให้ได้ภาพที่คมชัดและค่าแสงที่ดี แม้ถ่ายภาพด้วยความเร็วสูงถึง 20 ภาพต่อวินาที  

ระบบ Shutter และ ระบบ Silent Shutter ใน Sony A9 ติดตั้งระบบชัตเตอร์ให้ใช้งานในกล้อง 2 ระบบ ด้วยกันคือ ระบบชัตเตอร์ที่เป็นกลไก (Mechanic) และระบบชัตเตอร์แบบ Electronic สามารถเลือกใช้งานได้ในเมนู “กล้อง 2” [Short cut ที่ C3] ว่าจะเลือกใช้แบบไหน หรือ จะเลือกใช้แบบ Auto ทำงานร่วมกัน 

ในระบบชัตเตอร์ Mechanic ชุดชัตเตอร์ได้รับการออกแบบพัฒนาให้ลดการสั่นไหวน้อยที่สุด ชุดชัตเตอร์ทนการใช้งานได้ถึง 500,000 ครั้ง ใช้ความเร็วชัตเตอร์ได้ตั้งแต่ 30 วินาที ถึง 1/8000 วินาที และชัตเตอร์ B สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ด้วยความเร็ว สูงสุด 5 ภาพต่อวินาที

ในระบบชัตเตอร์ Electronic สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ความไวชัตเตอร์ 30 วินาที ถึง 1/32000 วินาที (ความไวชัตเตอร์ที่ 1/32000  วินาที  ใช้ได้เฉพาะ Mode S และ M ใน Mode อื่นๆ ความไวชัตเตอร์สูงสุดที่ 1/16000 วินาที) สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ด้วยความเร็วสูงสุดที่ 20 ภาพต่อวินาที

ถ้าตั้งระบบชัตเตอร์แบบ Auto จะทำงานร่วมกันทั้งแบบ Mechanic Shutter และ Electronic shutter โดยถ้าตั้งการถ่ายแบบทีละภาพ กล้องจะใช้ระบบชัตเตอร์เป็นกลไก แต่ถ้าตั้งระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง กล้องจะเลือกใช้เป็น Electronic shutter 

ระบบ Silent Shutter เป็นอีกระบบที่ Sony A9 มีมาให้ใช้ ระบบนี้เป็นระบบที่ไม่มีเสียงชัตเตอร์เมื่อถ่ายภาพ สำหรับการถ่ายภาพในสถานที่ที่จำกัดการใช้เสียง หรือไม่ต้องการให้เสียงชัตเตอร์ไปรบกวน อย่างเช่นการแข่งขันสำคัญๆ ที่ห้ามใช้เสียง  การเข้าระบบ ต้องเข้าไปตั้งในเมนู “กล้อง 2” เลือกไปที่ เมนู 9/9 เข้าไปเมนู Audio Signal กดเข้าไปเลือก ให้เป็น Off จะไม่มีเสียงชัตเตอร์เมื่อถ่ายภาพ

ระบบลดการสั่น 5 แกน Sony A9 ได้ติดตั้งระบบลดการสั่นแบบ 5 แกน มาให้ใช้งานได้พร้อมในกล้องรุ่นนี้ สามารถลดการสั่นไหวในการถ่ายภาพได้ถึง 5 สต็อป ทำให้ได้ภาพที่คมชัดไม่สั่นไหว ใช้งานได้สมบูรณ์ทั้งระบบถ่ายภาพนิ่งและถ่ายภาพวิดีโอ สามารถใช้งานร่วมกับเลนส์ A-mount พร้อม Mountadapter

Body ตัวกล้อง Sony A9 โครงสร้างผลิตด้วย Magnesium alloy ตั้งแต่โครงชิ้นหน้ารวมทั้งส่วนกริป เฟรมด้านใน ตัวเฟรมด้านหลัง และชิ้นฝาด้านบน แข็งแกร่ง น้ำหนักเบา ตัวกล้อง มีระบบ Seal กันฝุ่นและละอองน้ำ 

ช่องมองภาพ ช่องมองภาพของ Sony A9 เป็นแบบ Quad-VGA OLED Tru-Finder ความละเอียดสูง 3,686,400 พิกเซล แสดงภาพด้วยความเร็วสูง 120 ภาพต่อวินาที พร้อมด้วยเลนส์กำลังขยาย 0.78x เป็นเลนส์ ZEISS T* coating สว่างจากขอบถึงขอบ พร้อมด้วยระบบ Fluorine coating บนเลนส์ชิ้นหน้าลดการเกาะของละอองน้ำ ฝุ่น น้ำมัน และ รอยนิ้วมือ

จอแสดงภาพถ่าย เป็นจอ LCD แบบ TFT ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 1,440,000 พิกเซล ปรับเปลี่ยนองศาได้ พร้อมด้วยระบบ Touch Focus ที่สามารถแตะเลื่อนจุดโฟกัสได้ ระบบนี้จะช่วยให้การเลื่อนจุดโฟกัสในระบบถ่ายภาพแบบ Movie เป็นไปอย่างนุ่มนวล เลือกตั้งได้ในเมนู

มีเลนส์ให้เลือกใช้หลากหลาย Sony A9 มีเลนส์ให้เลือกใช้งานได้หลากหลายตลอดทุกช่วง ทั้งเลนส์ในตระกูล G Master, ตระกูล G และ เลนส์ของ ZEISS ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเลนส์คุณภาพสูงให้ความคมชัดและสีสันสดใสเป็นเยี่ยม ตั้งแต่ช่วงเลนส์มุมกว้างสุด 12 มม. ถึงช่วงเทเลโฟโต้ 800 มม. เมื่อใช้คู่กับ SEL 20 TC (2.0 x Tele Converter)

ระบบอื่นๆ ใน Sony A9 ยังมีความพร้อมสำหรับระบบอื่นๆ อีกหลากหลาย ตั้งแต่ระบบถ่ายภาพวิดีโอแบบ 4K ช่องบรรจุการ์ดบันทึกภาพที่มี 2 ช่อง สามารถเลือกการบันทึกภาพลงการ์ดแต่ละช่องได้ ช่อง FTP file transfer สำหรับเชื่อมกับสาย LAN ในการส่งข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งระบบ Wi-Fi, NFC ให้พร้อมใช้งาน เป็นต้น

ทดลองใช้งาน

ผมได้รับกล้อง Sony A9 เพื่อทดลองใช้งาน สัมผัสแรกกับกล้องรุ่นนี้ ก็คือ กล้องรุ่นนี้มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา เมื่อเปรียบเทียบกับกล้อง D-SLR ในระดับเดียวกัน ตัวกล้องได้รับการผลิตมาประณีตเรียบร้อยดีมาก สิ่งสำคัญสำหรับนักถ่ายภาพก็คือ เรื่องปุ่มบังคับการทำงานของกล้อง Sony A9 ได้รับการออกแบบวางตำแหน่งมาให้สามารถใช้งานได้สะดวกมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นแหวนการปรับเลือกระบบถ่ายส่วนบนด้านขวามือ พร้อมปุ่มชดเชยแสงด้านข้างที่เป็นระบบหมุนได้เลยทีเดียวไม่ต้องกดแล้วหมุน แหวนการปรับตั้งค่าความไวชัตเตอร์และรูรับแสงแยกกันเป็น 2 วงแหวน ด้านหน้าและด้านหลัง เป็นแบบที่คุ้นเคยดีอยู่แล้ว การวางสวิทช์เปิดปิดกล้อง อยู่ในตำแหน่งเดียวกับปุ่มชัตเตอร์ สะดวกและรวดเร็วสำหรับการใช้งานได้ดี

ส่วนบนด้านซ้ายมือของกล้อง เป็นวงแหวนซ้อนกัน 2 ระดับ วงแหวนส่วนบนเป็นวงแหวนสำหรับการตั้ง Drive mode ถ่ายทีละภาพ หรือ ถ่ายแบบต่อเนื่อง ส่วนวงแหวนด้านล่าง เป็นวงแหวนสำหรับเลือกระบบโฟกัสภาพ แบบโฟกัสทีละภาพ หรือ  โฟกัสภาพแบบต่อเนื่อง ทั้งสองวงแหวนมีปุ่มล็อคกันการเลื่อนแบบไม่ตั้งใจ ใช้งานได้สะดวกดีครับ ไม่ต้องเข้าเมนูให้ยุ่งยาก 

ด้านหลังมี Joy Stick เพิ่มขึ้นเหนือปุ่ม Fn ช่วยให้การปรับเลื่อนง่ายขึ้น ใช้งานง่ายทั้งการปรับเลื่อนจุดโฟกัส และเมนู ปุ่ม Fn ยังคงความสะดวกสำหรับการปรับตั้งค่าได้อย่างรวดเร็ว

ระบบเมนู มีให้เลือกปรับใช้มากขึ้นกว่าเก่า จุดนี้คงต้องใช้เวลาสักนิดในการทำความเข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจแล้วจะพบว่า  กล้องรุ่นนี้สามารถตั้งค่าต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของนักถ่ายภาพได้อย่างเหลือเฟือเลยทีเดียว 

นอกจากนี้ ยังมีปุ่ม Short cut ให้ใช้งานได้อีกถึง 4 ปุ่ม คือ C1-C4 เพื่อการเลือกอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น C1 เพื่อเลือกตั้งค่า WB…C2 เพื่อเลือกตั้งพื้นที่โฟกัส…C3 เพื่อเลือกระบบชัตเตอร์…เป็นต้น 

ผมได้ลองใช้งานกับกล้องรุ่นนี้ สำหรับการถ่ายภาพทั่วไปอย่างหนึ่ง และการถ่ายภาพเฉพาะทางอีกอย่างหนึ่ง ด้วยการเลือกการถ่ายภาพนก สาเหตุที่เลือกการถ่ายภาพเฉพาะทางเป็นการถ่ายภาพนก ก็เพื่อดูสมรรถนะของระบบโฟกัสภาพของกล้องเนื่องจากนกมีการเคลื่อนที่ที่เร็วมาก มีทิศทางที่ไม่อาจคาดเดาได้ และการถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูง 20 ภาพต่อวินาที

ผลของการใช้งาน

สิ่งแรกที่น่าประทับใจสำหรับการใช้งานก็คือ เรื่องน้ำหนัก  ผมได้พกกล้องรุ่นนี้ติดเลนส์ FE 12-24. mm. G และ เลนส์ FE 100-400 mm. GM น้ำหนักรวมแล้ว สบายมาก ไม่เป็นภาระเลย จริงๆ แล้วถ้าเพิ่มช่วง FE 24.70 mm. GM อีกตัวก็จะครบช่วงทำงานเลยทีเดียว ซึ่งรวมแล้วก็ยังถือว่าสบายๆ ในการเดินทางถ่ายภาพแบบครบเครื่องเลยทีเดียว

การตั้งค่ากล้อง ทำความเข้าใจและคุ้นเคยได้ไม่ยากเลย  สามารถเข้าใจ และตั้งค่าทำงานได้ในเวลาอันสั้น ยกเว้นเมนูลึกๆ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งในการหาความชำนาญครับ

การใช้งาน กล้องตอบสนองการทำงานได้รวดเร็วดีมาก ทั้งการเปิดสวิทช์ทำงาน การชิฟจุดโฟกัสตอบสนองได้ทันใจดี  สามารถชิฟจุดโฟกัสได้เกือบสุดขอบภาพเลยทีเดียว

ความเร็วในการโฟกัสภาพ ตอบสนองได้รวดเร็วดีมากใช้งานได้ทันใจ สำหรับในเรื่องของระบบโฟกัสต่อเนื่อง AF-C ทำงานโฟกัสต่อเนื่องได้รวดเร็ว ซึ่งถ้าใช้ร่วมกับระบบโฟกัสติดตามวัตถุด้วยแล้ว อย่างเช่น การให้โฟกัสติดตามนกใน Action ต่างๆ สามารถโฟกัสติดตามวัตถุและจับภาพได้รวดเร็วดีครับ

สำหรับระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง 20 ภาพต่อวินาที กล้องรุ่นนี้ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ด้วยความเร็วสูงมาก สามารถกดถ่ายติดต่อกันได้กว่าสามร้อยภาพโดยไม่สะดุดเลย ต้องขอขอบคุณทาง โซนี่ ที่ให้การ์ด UHS-II รุ่นใหม่มาใช้พร้อมกับกล้องครับ 

ในเรื่องคุณภาพของภาพถ่าย ในเรื่องของความคมชัดจากระบบโฟกัส คุณภาพของภาพที่ได้จากการถ่ายแบบทีละภาพ  ภาพที่ได้มีความคมชัดดีมาก สำหรับการถ่ายภาพต่อเนื่องและเลือกเป็นระบบโฟกัสติดตามวัตถุพบว่า ภาพส่วนใหญ่ที่ถ่ายต่อเนื่องกันกว่าร้อยภาพ พบว่าโฟกัสภาพได้ชัดดี มีบางภาพที่อาจจะหลุดโฟกัสบ้าง ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากความไวในการบิน และการเปลี่ยนทิศทางของตัวนกเอง แต่ที่น่าทึ่งก็คือ  แม้ว่าการบินของนกที่อาจจะผ่านสิ่งกีดขวาง แต่โฟกัสก็ยังจับอยู่ที่ตัวนกอยู่ 

ในเรื่องของสีสัน และสัญญาณรบกวนในภาพถ่าย จากภาพถ่ายที่ได้ พบว่า ในเรื่องสีสันนั้น Sony A9 ให้สีสันที่สดใส  สมจริง ภาพสีสันสดใสมาก สำหรับในเรื่องของสัญญาณรบกวน  จากภาพถ่ายที่ความไวแสงสูง ISO 6400 ภาพที่ได้สัญญาณรบกวนมีบ้างเล็กน้อย ใช้งานได้สบายใจเลย ที่ ISO 12800 มีสัญญาณรบกวนบ้าง แต่รับได้ครับสำหรับการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยๆ ความไวแสงสูงสุดนั้นเรียนตามตรงครับยังใช้ไปไม่ถึงครับ….

ถ่ายภาพที่ ISO 6400

บทสรุป

Sony A9 ต้องถือว่าเป็นกล้องระดับมืออาชีพกล้องหนึ่งที่น่าใช้งานครับ ด้วยน้ำหนักกล้องแม้จะรวมเลนส์อีก 3 ตัวแล้ว ก็ยังมีน้ำหนักที่ออกภาคสนามได้อย่างสบายๆ ไม่เป็นภาระเมื่อเทียบกับน้ำหนักของ D-SLR ความแข็งแรงทนทานของกล้องทนทานต่อการใช้งานหนักได้ดี ระบบโฟกัสรวดเร็วทันใจ โฟกัสติดตามวัตถุได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ด้วยความเร็วสูง มั่นใจได้ว่า จะไม่พลาดจังหวะสำคัญสูงสุดเลยทีเดียว ภาพคมชัด สีสันสดใสครับ….