เรื่อง+ภาพ : Broncos SL3

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 247/2018 April

A7III สุดยอดกล้องมิเรอร์เลสแบบฟูลเฟรมระดับมืออาชีพรุ่นใหม่ล่าสุดขนาดเล็กกะทัดรัด คล่องตัวในการใช้งาน และการพกพา ถ่ายภาพรัวได้สูงสุด 10 ภาพต่อวินาที ด้วยโหมด Silent Shooting แบตเตอรี่รุ่นใหม่ NP-FZ100 ที่ช่วยในการถ่ายภาพได้อย่างยาวนานที่สุดถึง 710 ภาพต่อการชาร์จเพียง 1 ครั้ง ระบบกันสั่นภายในตัวกล้องแบบ 5 แกน เทคโนโลยี Electronic Shutter ที่สามารถลั่นชัตเตอร์ได้อย่างเงียบกริบ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้รักการถ่ายภาพที่ต้องการความเงียบ มีระบบ Eye AF ที่ช่วยโฟกัสติดตามดวงตาทำให้การถ่ายภาพบุคคลมีความง่ายดายและสวยงามยิ่งขึ้น พร้อมเลนส์คุณภาพสูงให้ความคมชัด มาให้เลือกใช้งานหลากหลายช่วง

ย้อนหลังไปในปี 2013 SONY ได้ทำให้วงการกล้องถ่ายภาพสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ ด้วยการปล่อยกล้องที่เป็น Game Changer อย่างแท้จริงออกมาวางตลาด นั่นคือ SONY A7 Series นั่นเอง ทั้ง A7 ที่เป็น Full Frame Mirrorless ตัวแรกของโลก A7R ที่มีความละเอียดสูงถึง 36 ล้านพิกเซล และ A7S ที่มีความไวแสงสูงมากถึง ISO 204800 และในอีกสองปีถัดมาคือปี 2015 SONY ก็เพิ่มระบบป้องกันสั่นไหวของภาพ 5 ทิศทางเข้าไปในตัวกล้องในรุ่นที่ 2 ผลก็คือ SONY ครองใจผู้ใช้งานกล้องฟูลเฟรมชนิดเบ็ดเสร็จแทบจะไม่เหลือส่วนแบ่งให้กับยี่ห้ออื่นเลย และ SONY ยังคงพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และนำนวัตกรรมใหม่ๆ จากกล้องรุ่นสูงกว่าเข้ามาใส่ในกล้องรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว และวางตำแหน่งไว้เป็น รุ่นพื้นฐาน ในราคาที่เรียกได้ว่า สุดคุ้มค่า นั่นคือ SONY A7III ที่เรากำลังจะพูดถึงกันครับ

 

จุดเด่นของ SONY A7III

เซ็นเซอร์ใหม่หมดจด

SONY A7III ใช้เซ็นเซอร์ 24.2 ล้านพิกเซล Exmor R BSI CMOS ตัวใหม่ล่าสุด (คนละตัวกับ SONY 9) ให้ช่วงความไวมาตรฐานแสงกว้างมากตั้งแต่ ISO 100-51200 และสามารถขยายได้ถึง ISO 50-204800 โดยให้ไดนามิคเรนจ์สูงถึง 15 สตอปที่ ISO ต่ำ เมื่อผนวกกับ Front End LSI และระบบประมวลผล BIONX Z ที่พัฒนาใหม่ ทำให้มีความเร็วในการทำงานสูงกว่า A7II เดิมถึง 1.8 เท่า ให้คุณภาพของภาพดีกว่า 1.5 เท่า ให้การถ่ายทอดสีและโทนสีผิวได้อย่างเป็นธรรมชาติยิ่งกว่าเดิม และ A7III ยังสามารถบันทึกไฟล์ RAW ในแบบ 14 Bit ได้ทั้งการถ่ายภาพด้วยชัตเตอร์แบบกลไกและแบบ Electronic Shutter

ระบบการหาระยะชัดระดับมืออาชีพ

ระบบโฟกัสของ SONY A7III นั้นพัฒนาจาก A7II เดิมที่มีเซ็นเซอร์หาโฟกัสแบบ Phase detection เพียง 117 จุด และแบบ Contrast Detection 25 จุด ขึ้นไปเทียบชั้นกับกล้องมืออาชีพ ด้วยระบบ 4DAF เพราะใช้พื้นฐานเดียวกับกล้องรุ่นเรือธงคือ SONY A9 มีเซ็นเซอร์โฟกัสแบบ Phase detection 693 จุด ทำงานร่วมกับแบบ Contrast Detection อีก 425 จุด กินพื้นที่ 93% ในช่องมองภาพ สามารถโฟกัสในสภาพแสงน้อยได้ถึง EV-3 ให้ความเร็วในการโฟกัสในสภาพแสงน้อยเร็วกว่าเดิม 2 เท่า สามารถดักโฟกัสในระบบโฟกัสต่อเนื่องได้ดีกว่าเดิมถึง 2 เท่า และ A7III ยังปรับปรุงระบบ EYE AF ให้ล้ำหน้าขึ้นไปอีก โดยสามารถทำงานได้ในระบบการหาโฟกัสแบบต่อเนื่องแล้ว ระบบนี้จะจับโฟกัสที่ตาของแบบได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ และทำได้แม้จะถ่ายภาพต่อเนื่องที่ความเร็ว 10 ภาพต่อวินาทีก็ตาม อีกทั้งระบบ EYE AF ใน A7III นั้น ยังเปิดกว้างสำหรับผู้ที่ใช้เลนส์ SONY Mount A ของตนที่เป็นมอเตอร์แบบ SSM ได้ด้วยเช่นกัน โดยผ่าน Adaptor LA-EA3

ความเร็วในการทำงานอันน่าทึ่ง

ด้วยประสิทธิภาพของระบบประมวลผลกล้อง BIONZ X ที่พัฒนาใหม่ ทำให้ A7III มีความเร็วและความคล่องตัวในการทำงานสูงขึ้นมาก โดยสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องในระบบการหาโฟกัสแบบ AFC ได้สูงสุดถึง 10 ภาพ/วินาที ทั้งในการใช้ Shutter แบบปกติและ E-Shutter โดยที่กล้องยังสามารถคำนวณทั้งค่าการเปิดรับแสงและการโฟกัสได้ทันอีกด้วย

ด้วยความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องที่สูงขึ้นมากขนาดนี้ A7III จึงขยายขนาดของ Internal memory ในตัวกล้องเพื่อเป็น Buffer อย่างมหาศาล โดยสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องในระบบการบันทึกภาพแบบ JPG ได้ถึง 177 ภาพ RAW แบบบีบอัดได้ 80 ภาพ Compress RAW ได้ถึง 40 ภาพ โดยที่ยังสามารถควบคุมการทำงานของกล้องส่วนมากได้ แม้กล้องกำลังเขียนไฟล์ลงในการ์ดก็ตาม และ A7III ยังรองรับ SD CARD ถึง 2 ช่อง โดยหนึ่งในนั้นจะรองรับ Card แบบ UHS-II ที่สามารถอ่านเขียนไฟล์ได้เร็วถึง 300MB/Sec อีกด้วย

ระบบ Video 4K “Full Frame Readout”

SONY A7III พัฒนาระบบการถ่ายภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาเป็น 4K เรียบร้อยแล้ว โดยบันทึกเป็น 4K ในแบบ Full Frame ไม่มีการตัดส่วนแต่อย่างใด โดยนำค่าจากการอ่านข้อมูลของเซ็นเซอร์ทั้งหมดไปประมวลผล และทำการ Oversampling ขึ้นมาเป็นไฟล์ 4K ที่มีคุณภาพ และยังรองรับ Color Profile สำหรับงานปรับสี โดยมีทั้ง S-Log 2 ของเดิม และเพิ่ม S-Log 3 เพื่อการเกลี่ยสีและแสงได้ช่วงกว้างขึ้น และ A7III ยังรองรับ Color Profile HLG ที่ออกแบบมาสำหรับจอทีวีแบบ HDR ได้ในทันทีอีกด้วย

นอกจากการบันทึกภาพในแบบ 4K แล้ว A7III ยังสามารถบันทึกภาพในระบบ Full HD ได้ โดยสามารถบันทึกได้สูงถึง 120 FPS ที่ 100Mbps เพื่อการทำภาพแบบเคลื่อนไหวช้าหรือ Slow Motion ได้อย่างนุ่มนวล

ปรับปรุงทุกจุดเพื่อการทำงานที่ไว้ใจได้

SONY ปรับการออกแบบภายนอกของกล้องในตระกูล A7 Series เสียใหม่ โดยนำมาใช้กับ A7RIII เป็นตัวแรก และได้ยกการออกแบบนั้นทั้งหมดมาอยู่ใน A7III นี้ด้วย โดยการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการเพิ่มปุ่มโยกเพื่อปรับกรอบโฟกัส การเพิ่มหน้าจอระบบสัมผัส การย้ายปุ่มบันทึกภาพเคลื่อนไหว การปรับเสียงและจังหวะของปุ่มลั่นชัตเตอร์ให้เฉียบคมและหนักแน่นขึ้น และที่สำคัญคือการเปลี่ยนมาใช้แบตเตอรี่ใหม่ในตระกูล Z ที่มีกำลังไฟมากกว่ารุ่นเดิมถึง 2 เท่า ทำให้แบตเตอรี่ 1 ก้อนสามารถถ่ายภาพได้สูงถึง 710 ภาพ

 

ผลการทดลองใช้งาน

ผมได้มีโอกาสไปในงานเปิดตัวกล้องรุ่นนี้ที่จังหวัดภูเก็ต ได้ลองจับลองใช้งานอยู่ราวๆ 1 วัน และได้รับกล้องมาทดสอบที่กรุงเทพอีก 3-4 วัน โดยใช้ร่วมกับเลนส์ 16-35/4 50/1.4 28-70/3.5-5.6 24-240/3.5-6.3 และ Zeiss Batis 25/2 85/1.8 และ 135/2.8 ผลการทดลองใช้พอจะเล่าสู่กันฟังได้ดังนี้นะครับ

การออกแบบ

ถ้ามองเพียงผิวเผินโดยเฉพาะด้านหน้าของกล้อง ผู้ที่ใช้ A7II มาก่อนจะคิดว่า SONY แทบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเท่าไหร่เลยเพราะเหมือนกันมาก แต่พอดูรอบด้าน ได้หยิบกล้องขึ้นมาจับถือยกเล็งจะรู้สึกทันทีว่าโซนี่ปรับแต่งแก้ไขข้อบกพร่องเดิมของ A7II ไปได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นกริปที่อวบหนาและสูงกว่าเดิมเพราะใส่แบตเตอรี่รุ่นใหม่ ปุ่มกดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มกดชัตเตอร์ แป้นหมุนสี่ทิศที่ด้านหลังกล้องต่างก็ยกสูง และเซาะร่องให้นิ้วมือเกาะมากขึ้น และที่ผมชอบมากคือการมีจอยสติกเพื่อเลื่อนปรับกรอบโฟกัสที่โซนี่น่าจะทำมาตั้งนานแล้ว แถมด้วยการย้ายปุ่มบันทึกวีดิโอไปอยู่ใกล้ๆ กับช่องมองภาพ คือกดได้ถนัดขึ้นกว่าเดิมแต่ก็จะไม่เผลอไปกดง่ายๆ จอ LCD หลังกล้องที่ฉลาดขึ้นเพราะมีระบบสัมผัสมาแล้ว และยังแก้ไขสิ่งที่หลายๆคนบ่นคือเวลาพลิกจอแล้วถ้ามือไปบังช่องมองจอ LCD จะดับ ตอนนี้เพียงพลิกหน้าจอเล็กน้อยกล้องก็จะไม่สวิทช์ไปที่ EVF เวลามีอะไรมาบังแล้วครับ และส่วนของ EVF นั้น ถึงจะยังเป็น OLED ความละเอียด 2.36 ล้านพิกเซล เท่าเดิม แต่ได้เพิ่มอัตราขยายของช่องมองภาพเป็น 0.78x และเคลือบผิวเลนส์ตาด้วยเคลือบผิวแบบ T* อันโด่งดังจาก Zeiss อีกด้วย โดยรวมสำหรับการจับถือนี่ดีเลย

ส่วนเรื่องการกันน้ำกันฝุ่น เท่าที่ฟังมาคือด้านบนมีซีลกันน้ำอยู่นะครับ แต่เนื่องจากฝาหลังที่เป็น Carbon Composite และการออกแบบส่วนโครงสร้างด้านในส่วนล่างของตัวกล้องที่ต่างจาก A7RIII และ A9 เล็กน้อยจึงทำให้การกันน้ำอาจจะด้อยกว่าบ้างครับ

ระบบโฟกัส และความเร็วในการทำงาน

ใครที่เคยใช้ A7II มาก่อนจะรู้ดีว่ามันไม่ใช่กล้องที่ทำงานได้รวดเร็วนัก ทั้งการเลือกกรอบโฟกัส ความเร็วในการหาโฟกัส ความเร็วในการเขียนอ่านไฟล์และ Buffer แต่กับ A7III นี่ ถ้าไม่นับเรื่อง Start-Up Time (ที่ยังมีช่วงหน่วงเวลาอยู่บ้าง) คุณลืมเรื่องเก่าๆ ไปได้เลยครับ A7III เป็นกล้องที่มีความเร็วในการทำงานดีมาก การเลือกกรอบโฟกัสด้วยจอยสติกหรือการใช้แตะจอทัชสกรีนแล้วลากเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งเวลาเล็ง EVF ทำได้อย่างดีเยี่ยม ความเร็วและแม่นยำในการโฟกัสดีกว่าเดิมจนรู้สึกได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาแสงน้อย และระบบ EYE AF คือหนึ่งในพัฒนาการที่ชัดเจนและดีงามที่สุดของกล้องรุ่นนี้ ถ้าคุณจะถ่าย Portrait เพียงแต่ตั้งการหาโฟกัสเป็นแบบต่อเนื่อง เล็งไปที่แบบ กดปุ่มกลางของแป้นสี่ทิศทางค้างไว้แล้วกดชัตเตอร์รัวๆ ได้เลย ภาพทุกภาพคมชัดโฟกัสเข้าที่ตาของแบบเสมอ ผมลองถ่ายคนวิ่งจ๊อกกิ้งที่สวนลุมพินี กดไป 32 ภาพต่อเนื่องที่ความเร็ว 10 ภาพต่อวินาที ผลที่ได้คือภาพทุกภาพโฟกัสที่หน้าได้อย่างคมชัด อันนี้ต้องบอกว่าประทับใจครับ ส่วนระบบ AF-Tracking ก็ทำงานได้ดี แต่ผมชอบใจในการทำงานของ EYE AF มากกว่าครับ

ส่วนความเร็วในการเขียนอ่านข้อมูล A7III ให้ความเร็วได้อย่างน่าทึ่ง ดีกว่าตัวเดิมไปไกลมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้กับ SD Card แบบ UHS-II และใส่ไว้ใน Slot ที่ 1 คุณจะสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องในแบบ RAW 14 Bit Uncompress + Jpg Extrafine รัวๆ ทีละ 20-30 ช็อต แล้วปรับตั้งค่าในกล้องต่างๆ เพิ่มเติมจากนั้นกดต่อได้เลย กล้องเคลียร์ไฟล์เร็วมาก ใช้งานสนุกมากชนิด SD 32GB ความเร็ว 300/299 Mbps ที่ SONY ให้มาเต็มการ์ดในเวลาไม่ถึงชั่วโมง!!!

SONY A7III – ISO 400, f4, 1/2500 sec.

SONY A7III – ISO 100, f7.1, 1/50 sec.

SONY A7III – ISO 250, f4, 1/640 sec.

ไฟล์ภาพ และสัญญาณรบกวน

หลังจากนำภาพถ่ายทั้งจากทริปภูเก็ตและที่ถ่ายในกรุงเทพมาดูบนจอคอมพิวเตอร์ โดยผมมักจะถ่ายใน Mode A ใช้ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยหลายส่วน ตั้ง White Balance เป็นแบบออโต้โดยเน้นให้ส่วนสว่างเป็นสีขาว ค่าสีเป็น Landscape และ Portrait สลับกัน ผลก็คือ A7III เป็นกล้องที่ให้ภาพคมชัดดีมาก กับเลนส์ 28-70/3.5-5.6 ที่เป็นเลนส์ Kit ก็ยังให้ผลได้เป็นที่น่าพอใจ และเมื่อเจอกับเลนส์คุณภาพสูงมากอย่างเลนส์ Zeiss Batis 135/2.8 APO Sonnar หรือ Zeiss 50/1.4 กล้องจะให้ภาพที่คมชัดมากจนน่าตะลึง คมจนไม่อยากจะเชื่อว่า A7III ยังคงการใช้ AA Filter อยู่ ภาพคมกริบ ขุดรายละเอียดได้ดีมากชนิดเห็นถึงรูขุมขน ให้โทนสีผิวที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น สีผิวไม่อมเหลืองอีกต่อไป ถ้าหากตั้งค่าสีเป็นแบบ Portrait จะให้ภาพที่คอนทราสปานกลาง โทนสีผิวจะอมชมพูขึ้นเล็กน้อย สีไม่จัดนักแต่คมกริบ ถ้าตั้งเป็น Landscape จะให้สีที่ดุดันขึ้น สีของท้องฟ้าเข้มจัด จนบางครั้งคนจะนึกว่าใส่ C-PL ด้วยซ้ำ และคมชัดมากเช่นกัน

ส่วนในเรื่อง Dynamic Range นั้น เนื่องจากขณะที่เขียนรีวิวนั้นทาง Adobe ยังไม่มี ACR ตัวใหม่ที่รองรับรุ่นนี้ และผมยังไม่คุ้นกับ Workflow ของ Image Edge ที่เป็นโปรแกรมปรับแต่งภาพของ SONY เองด้วย เลยต้องใช้ JPG File เป็นหลัก โดยพยายามใช้ระบบการช่วยเหลือของกล้องในการปรับคอนทราสของภาพและ/หรือยกรายละเอียดในส่วนต่างๆ ของภาพ ผลจากการใช้ DRO ซึ่งจะเป็นการยกรายละเอียดส่วนเงาขึ้นเพื่อให้ภาพไม่ทึบตันนัก ผลก็คือ DRO ของ A7III ทำงานได้ดีกว่าเดิม คือยกส่วนเงาขึ้นมามากถึง LV 5 ได้โดยที่ในส่วนเงายังคงมีรายละเอียด ไม่เป็นจุดสีหรือเป็นสีเทาปื้นๆ แต่อย่างใด และถ้าบันทึกในไฟล์ JPG แบบ XtraFine ที่มีการบีบอัดน้อย ก็ยังพอจะเร่งความสว่างในส่วนมืดในโปรแกรมแต่งภาพอย่าง Aperture ได้โดยที่ภาพยังมีรายละเอียดด้วยเช่นกันครับ

เรื่องของสัญญาณรบกวน A7III อาศัยความได้เปรียบจากการที่ SONY เป็นผู้ผลิตเซ็นเซอร์เอง และมีเทคโนโลยี BSI อยู่ในมือ ทำให้เซ็นเซอร์ BSI 24 ล้านพิกเซลตัวนี้บวกกับ Front End LSI รุ่นใหม่ และ CPU BIONX Z ใหม่ นอกจากจะให้ภาพที่มีความคมชัดสูงและสีสันงดงามแล้ว เรื่องของสัญญาณรบกวนก็ยังน้อยลงกว่าเดิมมาก ไฟล์ JPG ที่ถ่ายที่ ISO ต่ำกว่า 6400 เรียกได้ว่าไม่น่ากังวลใจ ผมลองเร่ง ISO ไปถึง 4500 ภาพก็ยังใส มีสัญญาณรบกวนเล็กน้อยในส่วนเงาของภาพ ภาพจะเริ่มนุ่มลงและมีนอยซ์สีให้เห็นตอนซูม 100% เล็กน้อยที่ ISO 12800 ซึ่งถ้าย่อลงหรือนำไปอัดขยายลงกระดาษน่าจะไม่รู้สึกเลย และลองระดับขีดสุดที่ 51200 ยังให้ผลของภาพที่พอใช้งานได้อยู่ ส่วน ISO Boost ที่ 102400 และ 204800 เหมาะสำหรับกรณีฉุกเฉินที่ต้องการได้ภาพจริงๆ เท่านั้นครับ

หลังจากส่งต้นฉบับไปได้สองวัน ทาง Adobe ก็ออกตัว Raw Convertor สำหรับ A7III มาแล้วนะครับ ผมลองเอาไฟล์ที่ถ่ายในสภาพที่มีความเปรียบต่างสูงๆ มาลอง Convert ดู ผลที่ได้คือไฟล์ของ A7III สามารถเก็บรายละเอียดได้ดีมากทั้งในส่วนมืดและส่วนสว่าง ภาพที่ส่วนสว่างโอเวอร์ไปราวสองสตอปนั้น เมื่อทำการลดความสว่างลงยังได้สีสัน และรายละเอียดของเมฆกลับมาได้หมด และในส่วนมืดที่ไฟล์ Jpg ดำทึบจนไม่เห็นรายละเอียดนั้น ยังสามารถเร่งความสว่างส่วนเงาจนเห็นสีและรายละเอียดได้ครบโดยที่สัญญาณรบกวนหรือ Noise ต่ำมากเช่นกัน ภาพใส สีสันดี ไดนามิคเรนจ์ของเซ็นเซอร์ BSI นั้น ทำได้สมราคามากครับ

SONY A7III – ISO 100, f5.6, 1/1000 sec.

SONY A7III – ISO 250, f4, 1/80 sec.

SONY A7III – ISO 400, f7.1, 1/1600 sec.

การใช้พลังงาน

ปัญหาหนึ่งของกล้อง Mirrorless ก็คือเรื่องแบตเตอรี่ที่มีขนาดเล็กและใช้งานได้ไม่นาน ซึ่งในอดีตก็เป็นความจริงรวมถึง A7 Series รุ่นก่อนหน้านี้ด้วย แต่หลังจากที่ Sony A9 ออกสู่ตลาดและใช้แบตเตอรี่รุ่นใหม่ทำให้การใช้งานยาวนานกว่าเดิมมาก Sony A7III ใช้แบตเตอรี่รุ่นใหม่แบบเดียวกับที่ใช้ใน Sony A9

แบตเตอรี่รุ่นใหม่ NP-FZ100 ที่อยู่ใน SONY A9 และ A7RIII มีแรงเคลื่อนที่ 7.4 Volt และมีความจุ 2260 mAh ให้พลังงานถึง 16.4 Wh มากกว่าในรุ่นเดิมถึงสองเท่า ทำให้การใช้งานทั่วๆ ไปยาวนานมาก ตามสเปคของกล้องระบุว่าสามารถถ่ายได้ 710 รูปตามมาตรฐาน CIPA แต่กับการใช้งานจริงในทริปเปิดตัวกล้องรุ่นนี้ ผมถ่ายภาพไปราวๆ 800 ภาพ โยนไฟล์เข้าโทรศัพท์มือถือที่ความละเอียดสูงสุดไม่ต่ำกว่า 40 ภาพ ตรวจสอบและลบภาพที่ไม่ต้องการไปอีกหลายสิบภาพ กล้องยังคงเหลือพลังงานอีกมากกว่า 20% และในบรรดาสื่อมวลชนที่ไปด้วย บางท่านกดไปมากกว่า 1,500 ภาพโดยใช้ชัตเตอร์แบบกลไก ไม่ใช้ E-Shutter แบตเตอรี่ยังเหลือพลังงานอีกกว่า 50% ซึ่งน่าประทับใจมาก เพราะทำงานได้มากกว่ากล้อง DSLR หลายๆ ตัวแล้วด้วยซ้ำไป ทำให้ข้อด้อยของ 7III ที่ไม่มีที่ชาร์จแบตแยกแถมมาให้ลดลงไปบ้าง เพราะแบตเตอรี่ก้อนเดียวอยู่ได้เกิน 1 วันแบบสบายๆ ครับ

SONY A7III – ISO 100, f11, 20 sec.

SONY A7III – ISO 250, f4, 1/400 sec.

ชอบ

* ระบบการหาโฟกัส โดยเฉพาะ EYE AF

* เซ็นเซอร์ใหม่คุณภาพดีขึ้นมาก

* ถ่ายต่อเนื่องเร็วสูงสุด 10 ภาพต่อวินาทีและ Buffer มหาศาล

* ตัวกล้องจับถนัดคอนโทรลง่าย

* ตำแหน่งปุ่มกดชัตเตอร์ ความคมในจังหวะลั่นชัตเตอร์ และเสียงชัตเตอร์ที่หนักแน่นกว่าเดิม

* แบตอึดสุดๆ

SONY A7III – ISO 1000, f6.3, 1/30 sec.

สรุป

ถ้าถามว่าตลอดระยะเวลาที่ใช้ SONY A7III นั้นผมมีความรู้สึกอย่างไรกับกล้องรุ่นนี้ ต้องบอกว่า มันเป็นกล้องที่น่าทึ่งครับ ทึ่งในเทคโนโลยีที่ให้มาแบบไม่ยั้ง ไม่ว่าจะทั้งระบบการหาโฟกัส เซ็นเซอร์รับภาพรุ่นใหม่ การป้องกันการสั่นไหวของภาพในตัวกล้อง ความเร็วและแม่นยำในการทำงาน ความสามารถในการถ่ายวีดิโอแบบ 4K Full Frame ที่คุณภาพดีมาก ทั้งหมดนี้อยู่ในกล้องที่ทาง SONY วางตัวให้เป็นกล้อง Mirrorless Full Frame รุ่นพื้นฐาน เป็นกล้อง Basic Killer อย่างแท้จริงในราคาที่ไม่ได้แพงกว่ารุ่นก่อนเลย ความสามารถของมันนั้นสู้กับกล้อง DSLR Full Frame ที่มีความละเอียด 20-30 ล้านพิกเซลได้อย่างไม่ต้องกังวล และยังไปรับมือกล้อง DSLR ที่เป็นเซ็นเซอร์ APS-C ที่เน้นความเร็วเน้นการถ่ายภาพกีฬาได้อย่างสบายๆ อีกด้วย สมแล้วที่ Sony วางแผนการตลาดโดยจะเน้นที่ Mirrorless Full Frame เป็นหลัก เป็นตลาดที่ยังไม่มีคู่แข่งเลย เป็น Blue Ocean อย่างแท้จริงครับ

ถ้าต้องการใช้กล้อง Mirrorless และยังชอบทัศนมิติของกล้อง Full Frame หรืออยากอัพเกรดจากกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์เล็กมาเป็น Full Frame ต้องการกล้องที่ตอบสนองการทำงานได้ไม่แพ้กล้องมืออาชีพ ในราคาต่ำกว่าแสน คุณหากล้องที่ดีกว่านี้ไม่ได้แล้วครับ แนะนำเป็นอย่างยิ่งครับ

SONY A7III – ISO 800, f4, 1/100 sec.

SONY A7III – ISO 100, f4, 1/800 sec.