เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
ถ้าจะถามว่าอุปกรณ์มีผลอย่างไรบ้างในการถ่ายภาพนกประเภทแอคชั่น แน่นอนครับว่าในด้านการทำงาน ความก้าวหน้าต่างๆของเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยอำนวยความสะดวกในการถ่ายภาพเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ความรวดเร็วและแม่นยำในการโฟกัส คุณภาพของรายละเอียด และความคมชัดของภาพที่ได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าเราต้องอาศัยอุปกรณ์ที่ดี และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาตอบรับความต้องการของเรา
ผมได้มีโอกาสลองนำกล้อง Sony Alpha 1 กับเลนส์ FE 600 mm. F4 GM OSS ไปถ่ายภาพนกประเภทแอคชั่นมา อย่างที่เรารู้กันว่า ณ เวลานี้ กล้อง Sony a1 จัดเป็นกล้องเรือธงของค่ายโซนี่ที่ถือว่าสุดในเรื่องของความไวและความละเอียด ด้วยระบบถ่ายภาพต่อเนื่องได้มากสุด 30ภาพต่อวินาที และความละเอียดของเซ็นเซอร์ที่ 50 ล้านพิกเซล ส่วนเลนส์ FE 600 mm. F4 GM ก็ถือว่าเป็นซุปเปอร์เทเลโฟโต้เลนส์ตัวท๊อปของค่ายในเวลานี้เช่นกัน เมื่ออุปกรณ์ระดับท๊อปทั้งสองชิ้นมาทำงานร่วมกัน ผลลัพธ์ที่ได้มาต้องบอกว่าไม่ธรรมดา
ถ่ายด้วย SONY alpha 1 + Super telephoto Lens FE 600 mm. F4 GM OSS
ถ่ายด้วย SONY alpha 1 + Super telephoto Lens FE 600 mm. F4 GM OSS
กล้อง Sony alpha 1 นั้นเป็นกล้องที่มีการรวมจุดเด่นของกล้องรุ่นต่างๆ ที่โซนี่ออกมาก่อนหน้านี้ทั้งด้านความเร็ว และความละเอียด ด้านความเร็วนอกจากระบบถ่ายภาพต่อเนื่องที่ 30 ภาพต่อวินาทีแล้ว ระบบโฟกัส และระบบประมวลผลภาพของกล้องก็จัดอยู่ในกล้องที่มีความเร็วในสองจุดนี้สูงเช่นกัน (ระบบประมวลผลภาพ BIONZ XR 2 ตัวในการประมวลผล) ทางด้านความละเอียดนั้น ความละเอียด 50 ล้านพิกเซล ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการของช่างภาพที่ทำงานในระดับมืออาชีพอย่างเต็มที่
ถ่ายด้วย SONY alpha 1 + Super telephoto Lens FE 600 mm. F4 GM OSS
ถ่ายด้วย SONY alpha 1 + Super telephoto Lens FE 600 mm. F4 GM OSS
พูดถึงเลนส์ FE 600 mm. F4 GM OSS กันเสียหน่อย ด้วยความที่เป็นเลนส์ระดับซุปเปอร์เทเลโฟโต้เลนส์ และเป็นเลนส์ในกลุ่มของเลนส์ GM หรือ G-Master ของโซนี่ ซึ่งแน่นอนเรื่องความคมชัดของเลนส์นั้นอยู่ในระดับบนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมประทับใจกับเลนส์ตัวนี้อย่างแรกก็คือ น้ำหนักของตัวเลนส์ ซึ่งจัดว่าเป็นซุปเปอร์เทเลโฟโต้เลนส์ที่ผมสามารถถือถ่ายได้ ด้วยน้ำหนักของเลนส์ประมาณ 3 กิโลกรัม กระบอกเลนส์สมดุลที่ดี ให้ความรู้สึกเบากว่าที่คิดไว้มาก และจากการที่ให้หลายๆ คนลองถือดูก็บอกกันแบบนี้ สำหรับผมนั้นชอบในเรื่องของน้ำหนักเป็นพิเศษเพราะเคยเจอประสบการณ์ที่อยู่ในสถานการณ์ที่มีลมแรง และพื้นที่แคบตั้งขาตั้งกล้องไม่ได้ ต้องถือกล้องและเลนส์ถ่ายภาพเท่านั้น น้ำหนักของเลนส์จึงมีผลในการทำงานอย่างมาก
ถ่ายด้วย SONY alpha 1 + Super telephoto Lens FE 600 mm. F4 GM OSS
การทำงานของระบบโฟกัสทั้งกล้องและเลนส์เป็นการจับคู่ที่ลงตัว ความรวดเร็ว ว่องไว การโฟกัสติดตามวัคถุเคลื่อนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเราเลือกใช้งาน AF Tracking sens. ที่เหมาะสมช่วยในการจับโฟกัสนกที่กำลังบินอยู่ไปได้ตลอดการแพนกล้องตามนกนั้น ทำให้จับจังหวะลีลาต่างๆ ของนกมาได้อย่างครบทุกจังหวะที่ต้องการ นอกจากนั้นคือการควบคุมกล้องให้จับภาพนกเอาไว้ในเฟรมภาพให้ได้ สำหรับการถ่ายภาพนกประเภทแอคชั่นนั้น การควบคุมกล้องด้วยการแพนกล้องตามจังหวะการบินของนก มีส่วนสำคัญอย่างมากเพื่อให้ระบบโฟกัสทำงานได้อย่างเต็มที่
ถ่ายด้วย SONY alpha 1 + Super telephoto Lens FE 600 mm. F4 GM OSS
สรุปผล
เรื่องคุณภาพนั้น เมื่อนำกล้อง Sony a1 มาใช้ร่วมกับเลนส์ FE 600 mm F4 GM ความละเอียด 50 ล้านพิกเซลของกล้อง กับเลนส์ที่มีกำลังแยกขยายสูงของ GM แบบนี้ ความคมชัดของภาพ และการเก็บรายละเอียดของตัวนกนั้น ทำได้ครบถ้วนสมบรูณ์อย่างที่ต้องการ ความคมชัดของภาพเมื่อนำมาขยายดูที่ 100% รายละเอียดต่างๆ ของตัวนก เส้นขน แววตา กล้อง และเลนส์สามารถบันทึกมาให้อย่างเต็มที่ ในด้านความคมชัดของไฟล์ภาพนั้นไม่ต้องเป็นห่วงใดๆ กล้องและเลนส์จัดมาให้เต็มๆ จนประทับใจมากเป็นพิเศษ เพราะการถ่ายภาพนกนั้นโดยเฉพาะนกประเภทแอคชั่น การจัดองค์ประกอบภาพระหว่างที่ถ่ายภาพทำได้ยาก การนำภาพมา Crop ส่วนเพื่อจัดองค์ประกอบภาพตามต้องการ คุณภาพความคมชัดของไฟล์ภาพจึงถือเป็นเรื่องจำเป็น
ภาพต้นฉบับ
ภาพขยายที่ 100% เห็นรายละเอียดของเส้นขนนกชัดเจนดี
ภาพต้นฉบับก่อนทำการ Crop
ขยาย 100% จากภาพต้นฉบับเพื่อดูรายละเอียดของภาพ ลองสังเกตดีๆ จะมองเห็นท้องฟ้าและดวงอาทิตย์ที่สะท้อนอยู่ในดวงตาของนก
ภาพที่ Crop เพื่อนำไปใช้งาน ซึ่งสามารถนำไปพิมพ์ภาพ 20 นิ้วได้สบาย แม้จะเป็นภาพที่ผ่านการ Crop แล้ว
ในบทความตอนที่แล้วผมพูดถึงกล้อง Sony a1 ในเรื่องของความรวดเร็ว โดยเฉพาะการถ่ายภาพต่อเนื่องที่ 30 ภาพต่อวินาที ซึ่งมีเงื่อนไขหนึ่งในนั้นคือ ต้องตั้งคุณภาพของไฟล์ภาพที่ RAW แบบ Compressed ในคราวนี้จึงจะมาขอพูดถึงคุณภาพของ RAW แบบ Compressed ที่ได้จากกล้องตัวนี้กันเสียหน่อย ด้วยเวลาที่เราถ่ายภาพนกประเภทแอคชั่นนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมักจะเป็นช่วงเวลาในเสี้ยววินาที ซึ่งแม้แต่การชดเชยแสงก็อาจจะไม่สามารถทำได้ทัน ถ้านกนั้นบินผ่านไปในฉากหลัง หรือสภาพแสงที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ภาพที่ได้อาจจะมืดหรือสว่างเกินไป ถึงเวลานั้นไฟล์ RAW จะมีความจำเป็นในการดึงรายละเอียด ในส่วนที่ขาดหายไปให้กลับมา ซึ่งจากภาพจะเห็นว่ารายละเอียดที่ได้กลับมานั้นทำได้ดีมากแม้ว่าจะเป็น RAW แบบ Compressed และแน่นอนว่าทำให้สามารถบันทึกภาพจังหวะนี้ได้มากขึ้นด้วยการถ่ายต่อเนื่อง 30 ภาพต่อวินาที ส่งผลให้เราไม่พลาดในจังหวะสำคัญ
นกจาบคาบินจับผีเสื้อกลางอากาศในจังหวะบินย้อนแสงภาพที่ได้จึงเป็นเงาทึบ
แม้จะเป็นไฟล์ RAW แบบ Compressed ก็ยังดึงรายละเอียดในส่วนเงาออกมาได้ดีในระดับที่น่าพอใจ
ถ่ายด้วย SONY alpha 1 + Super telephoto Lens FE 600 mm. F4 GM OSS
สำหรับการจับคู่กันของกล้อง Sony Alpha 1 และเลนส์ FE 600 mm. F4 GM นั้นถือเป็นการจับคู่อุปกรณ์ ถ่ายภาพนกประเภทแอคชั่นที่สมบรูณ์แบบ ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใส่มาในกล้องและเลนส์คู่นี้ ตอบโจทย์ความต้องการของช่างภาพที่ชอบการถ่ายภาพนก โดยเฉพาะภาพนกแอคชั่นเอาไว้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะความไวของกล้อง ระบบโฟกัสที่ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ระบบถ่ายภาพต่อเนื่องที่ให้เก็บจังหวะสำคัญของแอคชั่นนกเอาไว้ที่ 30 ภาพต่อวินาที ซึ่งสูงที่สุด ณ เวลานี้ ความละเอียดของไฟล์ภาพที่สูงถึง 50 ล้านพิกเซล คุณภาพของ RAW ไฟล์ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับภาพ และน้ำหนักของอุปกรณ์ที่ทำให้การถ่ายภาพสะดวกมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมสัมผัสได้จากการใช้กล้องและเลนส์ชุดนี้ในระยะเวลาหนึ่งที่ผ่านมาครับ…
ถ่ายด้วย SONY alpha 1 + Super telephoto Lens FE 600 mm. F4 GM OSS
ถ่ายด้วย SONY alpha 1 + Super telephoto Lens FE 600 mm. F4 GM OSS
ถ่ายด้วย SONY alpha 1 + Super telephoto Lens FE 600 mm. F4 GM OSS
ถ่ายด้วย SONY alpha 1 + Super telephoto Lens FE 600 mm. F4 GM OSS