ประกวดภาพถ่ายนวัตกรรม “Innovation Thailand Photo Contest 2019” ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation”

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยนเรศวร สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ บริษัท ชีร์โร่ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จัดการประกวดภาพถ่ายนวัตกรรม “Innovation Thailand Photo Contest 2019” ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation” ชิงรางวัลเงินสด และ รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม Workshop การถ่ายภาพนำโดย อ. วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ ณ จังหวัดสุโขทัย

 

หัวข้อการประกวด “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation”

เป็นภาพที่แสดงออกถึงการนำเอานวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ เป็นภาพที่สร้างความตื่นตัวและความตระหนักในการที่จะนำนวัตกรรมการท่องเที่ยวมาใช้ โดยมีขอบเขตครอบคลุมมุมมอง 3 ด้านหลักอันใดอันหนึ่งดังนี้

  • ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Culture Tourism) หมายถึง รูปแบบการท่องเที่ยวที่มีการนำเอาทรัพยากรทางวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรม มรดกทางประวัติศาสตร์ การเยี่ยมชมงานสถาปัตยกรรม และ สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการซื้องานหัตถกรรม และ งานฝีมือที่ผลิตขึ้นจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นต่างๆ
  • ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism) หมายถึง รูปแบบการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นทางด้านการเรียนรู้ วิถีเกษตรกรรม เช่น การท่องเที่ยวไร่องุ่น ชมการผลิตไวน์ การนำชมสวนทุเรียน มังคุด มะม่วง เป็นต้น การท่องเที่ยวเชิงเกษตรทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยเน้นการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวในการดำเนินกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้ ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชนและตัวเกษตรกร โดยส่งเสริมโอกาสในการมีรายได้มากขึ้นจากการแปรรูป สินค้าเกษตร การเก็บค่าเข้าชม การจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และโอ กาสในการสร้างธุรกิจใหม่จากทรัพยากรที่เกษตรกรมีอยู่แล้ว ประโยชน์อีกประการหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงเกษตร คือ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวอีกด้วย
  • ด้านการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ (Health/Wellness Tourism) หมายถึง รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และ การพักผ่อนหย่อนใจ โดยแบ่งเวลาส่วนหนึ่ง จากการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ และ กิจกรรมรักษาฟื้นฟูสุขภาพทั้งทางร่างกาย หรือ จิตใจ

 

วัตถุประสงค์โครงการ

  • เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวด้านนวัตกรรมขึ้นในประเทศ ด้าน “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation” โดยอาศัยการถ่ายภาพเป็นเครื่องมือ
  • เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมต่อสังคม ในการช่วยกันนำเสนอปัญหาและโอกาสในพัฒนา “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation” และรูปแบบธุรกิจวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) มาสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมของสังคม ชุมชน และประเทศ ในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และด้านการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ
  • เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ที่มีใจรักการถ่ายภาพได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะด้านการถ่ายภาพ ทั้งกระบวนการคิดในการวางแผน การนำเสนอมุมมองและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะส่งผลให้มีภาพถ่ายใหม่ๆ ขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาวงการถ่ายภาพในเมืองไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
  • เพื่อประชาสัมพันธ์บทบาทของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติฯ ในการเป็นพลังขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งชาติ โดยสร้างความตื่นตัวและบรรยากาศด้านนวัตกรรมขึ้นในประเทศไทย

 

ประเภทของอุปกรณ์ถ่ายภาพ และ รางวัล

สำหรับการประกวดภาพถ่ายนวัตกรรม “Innovation Thailand Photo Contest 2019” ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation” นี้ได้แบ่งรางวัลออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

  1. ประเภทการถ่ายภาพโดยใช้โดรน (อากาศยานไร้คนขับ) – 13 รางวัล

*รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 30,000 บาท

*รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 15,000 บาท

*รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 10,000 บาท

*รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัล เงินรางวัลๆ ละ 3,000 บาท

 

  1. ประเภทการถ่ายภาพโดยใช้กล้อง DSLR กล้อง Digital และกล้องบรรจุฟิล์มหรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมือ – 13 รางวัล

*รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 30,000 บาท

*รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 15,000 บาท

*รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง จำนวน 1 รางวัล เงินรางวัล 10,000 บาท

*รางวัลชมเชย จำนวน 10 รางวัล เงินรางวัลๆ ละ 3,000 บาท

พิเศษ!!! ผู้ได้รับรางวัลทุกท่านจะได้รับการคัดเลือกให้ร่วมกิจกรรม Phototech Together Workshop ที่จังหวัดสุโขทัย 2 วัน 1 คืน (ฟรีค่าที่พักและอาหาร) กับ

*อาจารย์วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร, ศิลปินแห่งชาติ

*อาจารย์วรรณี ชัชวาลทิพากร, ศิลปินนักถ่ายภาพไทย

*รศ.ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์, PSA Photographic Society of America HM Ribbin, Photovivo International Photography award 2016

*ผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

*คุณเสกสรร เสาวรส, ผู้ชนะเลิศหลายรางวัลในการใช้โดรนถ่ายภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการประกวดภาพถ่ายที่เกิดขึ้นภายใต้กิจกรรม Phototech Together Workshop ชิงเงินรางวัล 50,000 บาท และถ้วยเกียรติยศจาก ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยได้รับสนับสนุนอุปกรณ์ถ่ายภาพในกิจกรรมเวิร์คชอป โดยเลนส์ยี่ห้อ Sigma และ ไฟแฟลช elinchrome จาก บริษัทชีร์โร่ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

 

ประเภทของภาพถ่าย

ผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะต้องส่งภาพถ่ายในรูปแบบของไฟล์ดิจิตอล หรือไฟล์ภาพถ่ายที่สแกนมาจากฟิล์มเท่านั้น จะไม่รับภาพถ่ายที่อัดขยายบนกระดาษอัดรูป

 

วิธีการส่งภาพประกวด

ส่งภาพถ่ายผ่านระบบเว็บของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เท่านั้น

 

*เปิดระบบรับภาพประกวดทาง Online วันที่ 15 มีนาคม 2562 – 20 เมษายน 2562 (ปิดระบบ เวลา 18.00 น.)

*Link ระบบรับภาพ http://www.rpst.or.th/innovation-thailand-photo-contest-2019-traveltech/

 

กติกาในการส่งภาพถ่ายเข้าประกวด

  • ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดสามารถส่งได้ทั้งภาพที่ถ่ายโดยการใช้โดรน กล้อง DSLR กล้อง Digital และกล้องบรรจุฟิล์มหรือการบันทึกภาพด้วยเครื่องมือหรือวิธีการอื่นๆ ในกรณีที่ใช้กล้องบรรจุฟิล์ม จะต้องนำฟิล์มไปสแกนเป็นไฟล์ภาพดิจิทัลความละเอียดสูง และต้องเป็นภาพถ่ายที่ถ่ายไว้ไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ถ่ายถึงวันหมดเขตรับภาพ
  • ไฟล์ภาพถ่ายที่ส่ง ต้องเป็นไฟล์ภาพถ่ายที่มีขนาดด้านที่สั้นที่สุดไม่ต่ำกว่า 2,400 Pixels และด้านที่ยาวที่สุดไม่เกินกว่า 4,800 pixels ในรูปแบบไฟล์ .jpg เท่านั้น และต้องไม่มีลายน้ำ เครดิตภาพ ตัวอักษร หรือกราฟิกใดๆ ลงบนภาพถ่าย รวมทั้งห้ามเว้นขอบภาพเป็นสีขาวหรือสีใดๆ
  • กรณีภาพที่ส่งเป็นภาพถ่ายดิจิตอลจากโดรน (อากาศยานไร้คนขับ) ต้องถ่ายภาพด้วยโดรนตามที่กฎหมายกำหนด เช่นระยะความสูงของการบินไม่เกิน 90 เมตร และไม่บินในเขตพื้นที่หวงห้าม พร้อมระบุยี่ห้อ รุ่น และหมายเลขเครื่องของโดรนที่ใช้
  • ผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะต้องสมัครเข้าระบบเว็บไซต์ของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ พร้อมกรอกรายละเอียดที่ถูกต้องตามหลักฐานจริงผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ภาพถ่ายนั้นๆ ด้วยตนเอง ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลงเลียนแบบภาพถ่ายของบุคคลอื่นๆ หรือนำภาพถ่ายของผู้อื่นมาส่งหรือส่งในนามผู้อื่นโดยเด็ดขาด
  • ผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดขอรับรองว่าภาพถ่ายที่ถูกส่งเข้าประกวดนั้น เป็นภาพถ่ายที่ตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้หากมีบุคคลที่สามกล่าวอ้างว่าภาพถ่ายที่ผู้ส่งภาพเข้าประกวดได้ส่งเข้าประกวดนั้น มีการละเมิดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะขอรับผิดชอบต่อค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียวโดยที่สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อความรับผิดของผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวด
  • ภาพถ่ายภายใต้ Theme “นวัตกรรมการท่องเที่ยว: Traveltech Innovation” โดยมีขอบเขตครอบคลุมในมุมมองด้านต่างๆ ดังนี้ 1) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Culture Tourism) 2) การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro Tourism) และ 3) การท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ (Health /Wellness Tourism)
  • ผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดแต่ละคนสามารถส่งผลงานภาพถ่ายไม่เกิน 5 ภาพ พร้อมตั้งชื่อภาพถ่าย และเขียนคำอธิบายแนวคิด หากภาพถ่ายใดข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติฯ จะถูกตัดสิทธิ์การส่งเข้าประกวด
  • ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดใดๆ มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการประกวดในเวทีสาธารณะ หรือการประกวดภายในของสมาคม ชมรม หรือองค์กรอื่นใด ทั้งนี้ภาพถ่ายดังกล่าวหมายความรวมถึง ภาพถ่ายที่ถ่ายในองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกัน เช่น การถ่ายภาพในครั้งเดียวกันหลายภาพ การเปลี่ยนองค์ประกอบของภาพเพียงเล็กน้อย การเปลี่ยนภาพจากภาพสีเป็นภาพขาวดำ การคร็อปภาพใหม่ หรือภาพถ่ายที่ถ่ายในองค์ประกอบเดียวกันกับผู้อื่นที่เคยได้รับรางวัลมาแล้วไม่ว่าจากเวทีใดๆ ทั้งนี้ ให้ถือเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการตัดสิน
  • ในกรณีมีการประท้วงในการทำผิดกติกา และในกรณีที่จะต้องนำภาพถ่ายไปพิมพ์ในขนาดใหญ่ หากถ่ายภาพเป็น RAW FILE ไว้ ควรเก็บ RAW FILE นั้นไว้ เพื่อแสดงเป็นหลักฐาน ในกรณีที่ภาพถ่ายอาจมีปัญหาในภายหลัง หากผู้ถ่ายภาพไม่สามารถนำ RAW ไฟล์มาแสดงได้ในกรณีที่คณะกรรมการ ต้องการตรวจสอบ คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ในการตัดสิทธิ์ภาพนั้นๆ ออกจากการประกวด
  • คณะกรรมการตัดสินภาพถ่ายในโครงการประกวดถ่ายภาพนี้ และคณะกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไม่มีสิทธิ์ในการส่งภาพถ่ายเข้าประกวดในครั้งนี้
  • ลิขสิทธิ์ของภาพยังคงเป็นของผู้ถ่ายภาพอย่างสมบูรณ์ คณะผู้จัดงานขอกรรมสิทธิ์ในการคัดเลือกภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลเพื่อนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึงนำไปจัดแสดงในที่ต่างๆ และมีสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ผลงานในหนังสือ นิทรรศการ และเอกสารสิ่งพิมพ์ รวมทั้งสารสนเทศทุกประเภทที่ไม่เป็นไปเพื่อการพาณิชย์ โดยไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์แก่เจ้าของภาพนั้นๆ โดยเป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากวันตัดสิน ทั้งนี้ คณะผู้จัดจะระบุชื่อเจ้าของผลงานให้ทุกครั้งที่นำภาพถ่ายไปใช้ เมื่อพ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว หากคณะผู้จัดมีความประสงค์จะใช้ภาพใด คณะผู้จัดจะติดต่อขออนุญาตจากเจ้าของภาพก่อนเป็นรายกรณี และจะใช้ภาพเมื่อได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วเท่านั้น
  • หากปรากฏว่าผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดเจตนาฝ่าฝืนกติกาข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนด ไว้ข้างต้นนี้คณะกรรมการมีอำนาจในการตัดสิทธิ์ผู้ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดผู้นั้นโดยมีโทษตั้งแต่การตัดสิทธิ์ในการประกวดและการตัดสินของคณะกรรมการ ถือเป็นที่สิ้นสุด ทั้งนี้ หากมีบุคคลที่สามกล่าวอ้างว่าภาพถ่ายที่ผู้ส่งภาพเข้าประกวด ได้ส่งเข้าประกวดนั้นมีการละเมิดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และ หากภาพที่ได้รับรางวัลเกิดขึ้นจากการละเมิดต่อกฎหมาย หรือ ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น จนนำไปสู่การร้องเรียน หรือ ฟ้องร้องทางกฎหมายจากภาครัฐ เอกชน หรือ บุคคลธรรมดาอันเป็นผลทำให้ไม่สามารถนำภาพที่มีปัญหาไปใช้งานได้ ทางคณะกรรมการจัดการประกวดมีสิทธิ์ประกาศยกเลิกผลการตัดสินของภาพนั้นๆ รวมถึงมีสิทธิ์ในการเรียกรางวัลคืนจากผู้ที่ได้รับรางวัล แม้ว่าทางคณะกรรมการจัดการประกวดจะได้ทำการตัดสินไปแล้วก็ตาม ผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าประกวดจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว โดยที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น
  • หลังจากมีการประกาศผลภาพถ่ายที่เข้ารอบสุดท้าย ทางคณะกรรมการจัดการประกวดจะเปิดให้มีการทักท้วงภาพภายใน 5 วัน หากมีผู้ทักท้วงและมีการตรวจสอบว่าภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดผิดกติกาในข้อใดข้อหนึ่งจะถูกตัดสิทธิ์การส่งเข้าประกวดทันที
  • คำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

 

ระยะเวลาโครงการ

*เปิดระบบรับภาพประกวดทาง Online วันที่ 15 มีนาคม 2562 – 20 เมษายน 2562 (ปิดระบบ เวลา 18.00 น.)

*ประกาศผลภาพที่ผ่านเข้ารอบ และ ผลรางวัลภายในเดือน พฤษภาคม 2562

*ผู้ได้รับรางวัลเดินทางเข้าร่วมกิจกรรม Phototech Together Workshop ที่จังหวัดสุโขทัยวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2562 และ มี*การตัดสินภาพสำหรับกรอบรางวัลพิเศษเพิ่มเติม 50,000 บาท หลังจากนี้