เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 241/2017 October
ถ้าจะพูดถึงการสร้างสรรค์ภาพแล้วนั้นก็คือ การนำไอเดียต่างๆ ส่วนประกอบ (องค์ประกอบ) ที่จำเป็นในการสร้างสรรค์งานศิลปะต่างๆมารวมเข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะลงตัว แล้วเกิดเป็นผลงานขึ้น ซึ่งเราอาจใช้องค์ประกอบทุกชนิด หรือบางชนิดมาใช้ในการทำงานก็ได้ โดยมากจะมีจุดมุ่งหมาย 1. เพื่อดึงดูดความสนใจ ในการสร้างงานศิลปะต้องมีจุดมุ่งหมาย เพื่อความพอใจของตนเองและผู้อื่นด้วย ฉะนั้นจึงต้องพยายามทำให้ผลงานที่ออกมามี ความน่าสนใจ ซึ่งจะต้องใช้องค์ประกอบต่างๆ มาจัดเข้าด้วยกัน โดยใช้หลัก เรื่องการเน้นหรือความเด่นเป็นสำคัญ งานที่ต้องแสดงความเด่นหรือจุดสนใจ (Center of Interest) อย่างมาก 2. เพื่อสื่อความหมาย เกิดจากความต้องการที่จะสื่อสาร หรือแสดงความคิดเห็น ของเจ้าของผลงาน ให้ผู้ดูได้รับรู้ ผู้ดูต้องมีความตั้งใจ และใช้เวลามากพอที่จะพิจารณาผลงาน จนรับรู้และเข้าใจผลงานนั้นได้ตรงตามความมุ่งหมายของเจ้าของผลงานนั้น
ภาพถ่ายก็เป็นศิลปะในรูปแบบหนึ่งที่หนีไม่พ้นหลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ แต่ในความเหมือนย่อมต้องมีความต่าง ภาพถ่ายนั้นนอกจากการเลือกใช้องค์ประกอบศิลปะภายในภาพแล้ว องค์ประกอบภายนอกก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันนัก องค์ประกอบภายนอกคืออะไร ก็น่าจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ ตั้งแต่การทำงานไปจนถึงเทคโนโลยีกับตัวช่างภาพ และสิ่งที่มองไม่เห็นอื่นๆ เช่น การเลือกใช้อุปกรณ์ การมองเห็นภาพในจินตนาการก่อนถ่าย หรือแม้แต่การเลือกจังหวะกดชัตเตอร์ การเลือกจังหวะในการกดชัตเตอร์ถ่ายภาพถ้าเราถ่ายภาพกับวัตถุที่หยุดอยู่นิ่งก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับวัตถุที่เคลื่อนไหวอยู่นั้นในบางครั้งการเลือกจังหวะที่ผิดพลาดก็เป็นสาเหตุให้ภาพของเราขาดความสวยงามได้ สิ่งที่จะทำให้เราสามารถเลือกจังหวะในการกดชัตเตอร์ได้ดีนั้นก็คือ การทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรากำลังจะถ่ายว่า มีลักษณะการเคลื่อนไหวอย่างไร เช่น ถ้าเราจะถ่ายภาพกวางวิ่งในทุ่งหญ้า เราควรจะรู้ถึงจังหวะและท่าทางในการวิ่งของกวาง หรือจังหวะการบินเข้าหารังของนกที่จะเอาอาหารมาป้อนลูกหรือจังหวะหยุด หรือโพส ของนักแสดงที่อยู่บนเวที หรือแม้แต่ท่าทางต่างๆ ของนักกีฬาในสนาม ที่ยกตัวอย่างมาล้วนมีจังหวะที่ดีในการถ่ายภาพที่เราต้องทำความเข้าใจและเตรียมการก่อนการถ่ายภาพทั้งนั้น
นอกจากรู้จักจังหวะที่ดีแล้ว การรู้จักรอคอยก็เป็นเรื่องสำคัญที่ช่างภาพควรจะมี เคยมีคำพูดที่ว่าโชค จังหวะ เวลา โอกาส ความอดทน ล้วนมีส่วนที่ทำให้ได้ภาพที่ดี และมีคุณภาพ ในความเป็นจริงคงเป็นเรื่องยากที่จะไม่ถ่ายภาพทันทีในขณะที่พ่อนกบินมาเกาะที่กิ่งไม้จะป้อนอาหารลูก แต่ถ้าเรารอคอยอีกสักนิดเพื่อรอจังหวะที่จะได้ภาพในตอนป้อนอาหารเข้าปากพอดี ดีกว่ากดชัตเตอร์แล้วนกตื่นบินหายไป หรือในบางครั้งเราถ่ายภาพกวางที่นอนอยู่ ทำให้พลาดจังหวะตอนลุกขึ้นวิ่ง ซึ่งการรอคอยเพื่อเลือกจังหวะที่ดีที่สุดย่อมทำให้ได้ภาพที่ดีกว่าเสมอ
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันจะทำให้กล้องถ่ายภาพ มีความสามารถในการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องได้ แต่ระบบถ่ายภาพแบบต่อเนื่องในตัวกล้องนั้นในบางครั้งจังหวะที่ชัตเตอร์ทำงานอาจจะไม่ใช่จังหวะที่เราต้องการ ซึ่งเราไม่สามารถจะควบคุมได้อย่างเต็มที่ การกดชัตเตอร์รัวจนบัฟเฟอร์และจำนวนช็อตต่อเนื่องของกล้องหมด จนทำให้กดชัตเตอร์ต่อไม่ลง ทำให้พลาดโอกาสสำคัญมาหลายครั้งแล้ว ช่างภาพหลายคนจะรู้
การทำความเข้าใจในลักษณะการเคลื่อนไหวของสิ่งที่จะถ่าย และรอคอยจังหวะที่ดีที่สุดในการถ่าย เป็นอย่างไรเรามาลองคุยกันดู ผมจะให้สังเกตจากภาพตัวอย่างที่นำมาประกอบภาพนกที่กำลังสร้างรัง ในภาพคือนกกินปลีอกเหลือง นกกินปลีชนิดหนึ่ง ซึ่งนิสัยส่วนใหญ่ของนกชนิดนี้ก็คือ จะไม่ตื่นคนมากนัก พูดง่ายๆ คือค่อนข้างจะคุ้นเคยกับผู้คนนั่นแหละ ดังนั้นการเข้าไปใกล้ในระยะที่นกรู้สึกปลอดภัยทำได้ง่าย ธรรมชาติของนกนั้นเวลาเอาเศษไม้ กิ่งไม้มาสร้างรังนั้น จะต้องมาเกาะที่กิ่งไม้กิ่งหนึ่งหรือส่งเสียงร้องเล็กๆ สั้นๆ ก่อนที่จะบินไปหน้ารังเสมอ ที่สำคัญพอบินมาถึงหน้ารังจะทำการกระพือปีกรัวที่เรียกว่า โฮป เสี้ยวเวลาหนึ่งก่อนบินเข้าเกาะรัง ดังนั้นเมื่อเราจะถ่ายภาพ ให้คำนวณค่าแสงไว้ให้เรียบร้อย ตั้งกล้องรอไว้ที่ปากรังโฟกัสไว้ให้แม่นยำ หรือจะตั้งระบบโฟกัสแบบต่อเนื่อง เมื่อนกบินมาเกาะที่กิ่งพักก็เตรียมตัวให้ดี พอนกบินขึ้นมาที่หน้ารังก็จะเป็นจังหวะที่กดชัตเตอร์บันทึกภาพได้พอดีนั่นเอง
อีกตัวอย่างหนึ่งคือภาพการแสดงบนเวทีอันดับแรกขนาดของเวทีจะเป็นตัวบอกถึงพื้นที่ที่นักแสดงจะเคลื่อนตัวไปมา ทีนี้ถ้าเราควรหาข้อมูลมาก่อนหน้าว่า การแสดงประเภทนี้มีรายละเอียดอะไรบ้าง แสดงเรื่องอะไร แสดงตอนไหน ฉากไหน เราก็สามารถจะคาดเดาได้ว่านักแสดงจะเคลื่อนไหวท่าทางอะไรบ้าง อย่างเช่น ถ้าเป็นโขนเรื่องรามเกียรติ์ ถ้าฉากที่มีตัวหนุมาน (ซึ่งเห็นมีแทบทุกฉาก) เราก็จะรู้ว่าเจ้าตัวหนุมานนั้นจะเป็นตัวที่ออกมาแสดงท่าทางได้ผาดโผนที่สุด เราก็คอยสังเกตท่าทีไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ
การจับจังหวะให้ได้ผลดีนั้นจะควบคู่มากับการหยิบจับ ปรับโน่นปรับนี่ กับกล้องที่ใช้ถ่ายภาพอยู่เป็นประจำ พูดง่ายๆ ว่าเอากล้องให้อยู่มือนั่นแหละ เราศึกษาระบบการทำงานของกล้องถ่ายภาพของเราว่าเป็นอย่างไร มีลูกเล่นมีเมนูคำสั่งอะไรบ้าง สามารถทำอะไรได้บ้าง ปุ่มควบคุมอยู่ตรงไหน หมุนไปทางไหน ฝึกโฟกัสภาพในระบบแมนนวลไว้บ้าง เพราะมี
ลักษณะงานหลายประเภทที่ระบบหาโฟกัสอัตโนมัติทำงานได้ไม่ดีนัก การใช้ระบบโฟกัสแบบแมนนวลกับให้ผลที่ดีกว่า วิธีฝึกแบบง่ายๆ ก็ลองเอาลูกเทนิสมาปาเบาๆ ใส่กำแพงแล้วลองหมุนแหวนโฟกัสที่เลนส์ตามดูว่าจับโฟกัสได้ทันหรือไม่ หรือจะลองโฟกัสภาพตามรถที่วิ่งอยู่บนถนนดูก็ได้ จะทำให้การโฟกัสภาพของคุณไวขึ้น
ทีนี้พอเราทราบจังหวะของสิ่งที่เราจะถ่ายแล้ว สามารถควบคุมกล้องได้ดั่งใจแล้วก็มาถึงเรื่องการวางองค์ประกอบในภาพ การวางองค์ประกอบภาพกับสิ่งที่มีการเคลื่อนที่นั้น ว่ากันแบบง่ายๆ ก็มีหลักอยู่ที่ทิศทางของวัตถุเคลื่อนไปทางไหน ให้เราเว้นพื้นที่ว่างไปทางนั้น เช่นคนวิ่งไปทางซ้ายของภาพ เราก็กดชัตเตอร์ในจังหวะที่คนควรจะอยู่ทางขวา เพื่อเว้นที่ด้านซ้ายที่กำลังวิ่งไป หรือนางแบบที่หันหน้าในขณะโพสท่า ซึ่งโดยมากนางแบบจะโพสไปเรื่อยๆ หน้านางแบบหันไปทางไหน ก็เว้นระยะทางนั้นไว้เสียหน่อยนึงก็เท่านั้นแหละ
อีกแบบหนึ่งที่เรามักจะเจอก็คือ ภาพที่มีทั้งวัตถุที่หยุดนิ่งและวัตถุที่เคลื่อนที่ ซึ่งเราก็ต้องการทั้งสองอย่าง (วัตถุหลักกับวัตถุรอง) เช่น พระอาทิตย์ตกริมน้ำที่พระปรางค์วัดอรุณแล้วมีเรือแล่นผ่านมา เราต้องการทั้งพระปรางค์ และก็ต้องการเรือด้วย จังหวะการกดชัตเตอร์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในกรณีนี้ก็ใช้หลักการเหมือนแบบแรกคือ วางองค์ประกอบของพระปรางค์ไว้ก่อนแล้วรอจังหวะที่เรือแล่นผ่านมาในตำแหน่งที่เราต้องการแล้วจึงกดชัตเตอร์
ทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมา และที่ครั้งนี้เอาเรื่องของจังหวะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพมาพูดคุยกัน ก็เพื่ออยากให้พวกเราได้ภาพถ่ายที่สวยงามกลับไปทุกครั้งที่ออกทริปถ่ายภาพ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว การวัดแสงการเลือกมุมมองจะดีมาตลอด แต่มักมาตกม้าตายกับจังหวะที่ไม่ช้าก็เร็วไปอยู่เสมอ จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คน แต่อย่าลืมนะครับหลายสถานที่โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยว มีช่างภาพไปถ่ายภาพหลายคนการแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ถ่ายภาพบ้างถือเป็นน้ำใจอันดีที่ควรกระทำ รู้จักรอแล้วต้องรู้จักพอด้วยครับ…