เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 240/2017 September
ในหลายครั้งที่เราดูภาพที่เราถ่ายมาแล้วรู้สึกว่าได้ภาพไม่น่าสนใจ ได้ภาพไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด โดยเฉพาะเมื่อเราถ่ายภาพมาสักระยะหนึ่งเราจะเกิดความรู้สึกที่เลิกตามถ่ายภาพบางอย่าง หรือไม่รู้สึกว่าภาพนี้เราต้องมี หรือแม้แต่บางครั้งเราเองก็ไม่รู้ว่าจะถ่ายภาพอะไรดี ถึงตรงนี้ผมว่าเราเองต้องเปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่แล้วล่ะครับ ถ้าเราเบื่อตามรอยเท้าคนอื่น การเริ่มต้นที่ดีก็อาจจะถึงเวลาที่เราจะสร้างรอยเท้าของเราเอง
จุดหมายของการถ่ายภาพก็คือการนำเสนอสิ่งต่างๆ ในช่วงเวลา หรือสถานการณ์บางอย่างที่น่าสนใจ แต่อันที่จริงแล้ว มันไม่ใช่การบันทึกเฉพาะสิ่งที่ดี หรือช่วงเวลาที่ดีเท่านั้น ที่มากกว่านั้น มันต้องมีรูปแบบเฉพาะที่เป็นของผู้ถ่ายเอง ดังนั้นคำถามก็คือ อะไรเป็นตัวสำคัญที่จะเปลี่ยนภาพที่ดูธรรมดาๆ ให้เป็นภาพที่น่าสนใจ
สิ่งแรกเริ่มก็คือ หยุดที่จะพยายามเลียนแบบช่างภาพคนอื่นๆ และเริ่มหันมองความสนใจของเราเอง หัวใจอยู่ที่การเลือกสิ่งที่จะนำเสนอ นักถ่ายภาพควรเน้นถ่ายทอดความเป็นไปของภาพ ไม่ใช่แค่ความสวยงามที่มองเห็น การที่จะทำอย่างนี้ได้ ต้องทุ่มเท ค้นคว้า พูดคุย หาข้อมูลให้มากๆ พยายามและล้มเหลวมาหลายครั้งเสียก่อน
โดยส่วนมากเราจะไปเน้นเรื่องที่ว่า ภาพสวยๆ นั้นมีที่มาได้อย่างไร ใช้เทคนิคอะไร มีความเป็นศิลปะอย่างไร มากกว่าการเน้นในเรื่องของสิ่งที่เราอยากจะถ่าย สิ่งแรกคือ ต้องเลือกว่าจะถ่ายอะไร เรามีความสนใจต่อสิ่งใด ตรงนี้ผมคงบอกไม่ได้ว่าใครนั้นสนใจเรื่องอะไร ไม่สนใจเรื่องอะไร แต่เราพอที่จะมีหลักการเลือกได้ว่าเราควรทำอย่างไร
จดบันทึกสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจ
เริ่มจากการคิดหัวข้อ หรือคิดถึงสิ่งที่เราสนใจ อยากถ่ายภาพ อะไรที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ อะไรที่เราชอบ อาจจะเป็นสิ่งที่ดึงดูด หรือสร้างความประทับใจให้กับเราในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอาจจะไม่ต้องคิดเรื่องการถ่ายภาพสักเท่าไหร่นัก ในจุดนี้จะเป็นเหมือนการตั้งโจทย์ให้ตัวเอง
วิเคราะห์ความคิด
ในขั้นนี้เราจะมาดูว่า ในรายชื่อที่เราเขียนออกมานั้นมีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น เรื่องนี้มองออกมาเป็นภาพได้หรือไม่, เรื่องนี้เราสามารถทำได้หรือไม่, เรื่องนี้เรามีความรู้เพียงพอหรือรู้จักกับสิ่งนั้นดีหรือไม่ และสุดท้ายเรื่องนี้มีความน่าสนใจจริงๆ หรือไม่
เรื่องนี้มองออกมาเป็นภาพได้หรือไม่
ในหลายครั้งความคิดของเรามันจะเป็นนามธรรมมากเกินไป เราจะมองให้ออกมาเป็นภาพได้ยาก เราก็จะตัดเรื่องเหล่านี้ออกไปก่อน หรือบางทีเรื่องที่เราสนใจนั้นเป็นเรื่องที่มีอยู่ในจินตนาการ ซึ่งอาจไม่มีอยู่ในความเป็นจริง เช่นเรื่องราวในอดีต หรือในอนาคต ดังนั้นเราจะตัดรายการต่างๆ ออกไปได้ เป็นการคัดกรองสิ่งที่เราสนใจทั้งหมด
เรื่องนี้เราสามารถทำได้หรือไม่
ข้อนี้จะเป็นการประเมินขีดจำกัดต่างๆ ที่เรามี เช่น เราสนใจและอยากถ่ายภาพตึกในแมนฮัตตัน แต่เรามีงบประมาณที่จำกัด หรือเราสนใจในดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง แต่เราไม่ใช่นักข่าว หรือช่างภาพแฟชั่น หรือเราอยากถ่ายภาพสัตว์ป่าหายาก แต่เราไม่มีเวลาในการไปเฝ้ารอในจุดที่เป็นแหล่งอาศัยของมัน ในข้อนี้จะเป็นการคัดกรองความเป็นไปได้ของการเข้าถึงสิ่งที่เราจะถ่ายภาพ
เรื่องนี้เรามีความรู้เพียงพอหรือรู้จักกับสิ่งนั้นดีหรือไม่
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะการที่เราถ่ายภาพในสิ่งที่เราไม่รู้จักจริงๆ แล้ว อาจจะทำให้เราได้ภาพ แต่ไม่ใช่ภาพที่แท้จริงก็ได้ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นถ้าให้ชาวตะวันตกมาถ่ายภาพขนบธรรมเนียมของชาวตะวันออก ซึ่งวัฒนธรรมบางอย่างนั้นแตกต่างกัน หรือสมมุติว่าสิ่งที่เราสนใจคือนกหายาก เราก็ต้องรู้พฤติกรรมต่างๆของนกตัวนั้นเสียก่อน ไม่เช่นนั้นเราคงจะถ่ายภาพของมันได้ยาก
เรื่องนี้มีความน่าสนใจจริงๆ หรือไม่
มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่การคิดของคนเรานั้นจะบังเอิญมาเหมือนหรือคล้ายคลึงกันได้ และในบางครั้งเรื่องที่เราคิดได้นั้น คนอื่นก็ได้ลงมือทำไปจนแพร่หลายแล้ว บางเรื่องที่เราคิดไว้มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจของคนกลุ่มเล็กๆ ดังนั้นในข้อนี้จึงเป็นการหยิบจับรายการที่เราเลือกไว้ว่าอันไหนใช้ได้ อันไหนยังไม่ผ่าน ถ้าผลการพิจารณา แล้วผลออกมายังเท่าๆ กัน มันก็ไม่เสียหายถ้าจะเลือกเรื่องที่คนส่วนใหญ่สนใจ บางครั้งอาจลืมจุดสำคัญ เรื่องที่ควรเลือกอาจเป็นเรื่องที่คุณสนใจมากๆ อย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่งที่จะผลิตงานออกมาได้ สามารถสื่อออกมาเป็นภาพได้ และมีอายุมากพอที่เราจะทำการแก้ไขอะไรได้อีกภายหลัง
การเน้นให้เข้าถึงเรื่องของสิ่งที่จะถ่าย ผมแน่ใจว่าจะทำให้บางคนอาจคิดว่า มันทำลายความสุขในการถ่ายภาพ แต่ความจริงก็คือ มันได้ผล การถ่ายภาพไปเรื่อยๆ แล้วหวังว่า จะมีสักรูป ที่โดดเด่นขึ้นมาผลคือมันไม่ได้เรื่องครับ ที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนักถ่ายภาพที่เก่งๆ ที่ใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์ และแนวทางแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกคนมีความคิดร่วมเหมือนกันในการถ่ายภาพ พวกเขามีความรู้ ความกระตือรือร้น และเข้าใจในสิ่งที่กำลังถ่าย และที่แน่ๆ พวกเขามีการวางแผนล่วงหน้า
ในการเริ่มต้น ต้องแคบและชัดเจน เพื่อจะได้รู้ว่าจะเล็งกล้องไปทางใด ดังนั้นการกำหนดเสียแต่วันนี้ จะช่วยทำให้เรามุ่งเน้นต่อสิ่งที่เราจะถ่ายได้ดีขึ้น คือพยายามคิดให้แคบและเจาะจง อย่าให้หัวข้อที่เราคิดนั้นกว้างจนจับอะไรไม่ได้ เช่นกำหนดไปเลยถึงการเดินทางไปโรงเรียนของเด็กนักเรียนอนุบาล ดีกว่ากำหนดกว้างๆ ไว้เพียงแค่เด็กอนุบาล อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นที่จะทำให้เราสร้างระบบความคิดของเราเองได้
การเลือกสิ่งที่จะถ่ายภาพจากการมองหาสิ่งที่เราสนใจ เป็นการเริ่มต้นสร้างหัวข้อ สร้างโจทย์ให้ตัวเราเอง เมื่อเราสามารถสร้างโจทย์ให้กับตัวเราเองได้แล้ว การถ่ายภาพของเราจะพัฒนาได้อีกขั้น อย่างที่บอกไปข้างบน สิ่งสำคัญที่เราต้องค้นหาโจทย์ให้กับตัวเราเองนั้นก็เพื่อที่เราจะสร้างผลงานที่เป็นของเรา การกำหนดหัวข้อ จะเท่ากับว่าเรากำหนดแนวความคิด เมื่อได้แนวความคิด ก็จะนำไปถึงการเลือกใช้เทคนิคที่จะมาตอบโจทย์ งานศิลปะหลายๆ ชิ้นล้วนมีรูปแบบมาจากตรงนี้ทั้งนั้นครับ…