เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 211/2015 April

บทที่ 11 เซลวัดแสงของกล้องถ่ายภาพ

กล้องดิจิตอลแบบ SLR ทุกตัวมีเครื่องวัดแสงอยู่ภายใน ส่วนมากจะทำจาก Silicon Photo Diode เมื่อได้รับแสงจะเกิดกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ขึ้นมา เมื่อนำไปขยายสัญญาณจะสามารถแสดงระดับปริมาณแสงได้เช่นเดียวกับเซ็นเซอร์ที่ใช้ในกล้องดิจิตอล Silicon Photo Diode มีความไวแสงสูงมาก สามารถวัดแสงที่ส่องสว่างในช่วงเวลาสั้นๆ ถึง 1/100,000 วินาทีได้อย่างแม่นยำ แต่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี่ในการทำงาน ไม่สามารถทำงานโดยปราศจากแบตเตอรี่ได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่ปัญหาอะไรในปัจจุบันที่เราจะไม่สามารถถ่ายภาพดิจิตอลได้เลยหากปราศจากพลังงานไฟฟ้า

เซลรับแสงแบบซิลิคอนโดยปกติจะไวต่อแสงสีแดง และเฉื่อยต่อแสงสีน้ำเงิน จึงต้องมีการแก้ปัญหาโดยการใช้ฟิลเตอร์สีน้ำเงินหน้าเซลรับแสง

เซ็นเซอร์วัดแสงแบบ RGB ของ Nikon ภาพจาก KenRockwell.com

เซลวัดแสงแบบ Silicon มีจุดอ่อนเล็กน้อยตรงที่ไวต่อแสงสีแดง และเฉื่อยกับแสงสีน้ำเงิน ทำให้เวลาวัดแสงจากวัตถุสีแดง หรือแสงที่ส่องมาเป็นสีแดง เช่น แสงพระอาทิตย์ยามอยู่ใกล้เส้นขอบฟ้า แสงไฟทังสแตน แสงส่องถนนมักจะได้ภาพอันเดอร์กว่าปกติ จะต้องชดเชยแสงโอเวอร์เพื่อแก้ข้อบกพร่องของเครื่องวัดแสง ในทางกลับกัน เมื่อวัดแสงจากวัตถุสีน้ำเงิน หรือท้องฟ้าสีน้ำเงิน ภาพที่ได้มักจะโอเวอร์ ต้องชดเชยแสงอันเดอร์เพื่อแก้ไข เครื่องวัดแสงรุ่นใหม่จึงมีการใส่ฟิลเตอร์สีน้ำเงินหน้าเซลวัดแสง เพื่อแก้ความบกพร่องในการใช้งาน ส่งผลให้ความผิดพลาดลดลง แต่มีข้อเสียคือ ทำให้ช่วงการวัดแสงของกล้องแคบลง ความสามารถในการวัดแสงที่มืดลดลงไปอย่างมากด้วย ส่วนกล้องบางยี่ห้อเช่น Nikon จะทำระบบวัดแสงที่สามารถวิเคราะห์สีได้ (3D Color Matrix) ทำให้การวัดแสงจากวัตถุสีมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

 

ตำแหน่งติดตั้งเซลวัดแสงในกล้องดิจิตอล

กล้องแบบ SLR ส่วนใหญ่มีเซลวัดแสง 2 ตำแหน่ง ตำแหน่งแรกคือ ใต้กระจกสะท้อนภาพ ทำหน้าที่วัดแสงแฟลชในระบบ TTL-Auto Flash คือแสงแฟลชที่สะท้อนออกจากอิมเมจเซ็นเซอร์ ตัวที่สองอยู่ที่ปริซึมใกล้กับเลนส์ตาของช่องมองภาพ  ทำหน้าที่วัดแสงต่อเนื่อง แสงธรรมชาติเป็นหลัก บางตัวอาจจะอยู่ที่ตำแหน่งต่างออกไป แต่ก็มักจะอยู่ในปริซึมและใกล้กระจกสะท้อนภาพเป็นหลัก

ตำแหน่งของเซลรับแสงของกล้องทั่วไปจะอยู่ด้านบนของช่องมองภาพ

ในการใช้งานเครื่องวัดแสงที่ตัวกล้อง โดยปกติผู้ใช้จะต้องเอาตาแนบช่องมองภาพ จะทำให้ไม่มีแสงลอดจากเลนส์ตาไปยังเครื่องวัดแสง เครื่องวัดแสงจะวัดแสงจากภาพที่มาจากเลนส์เป็นหลัก แต่ในบางกรณีที่ตาไม่สามารถแนบกับช่องมองภาพได้ เช่น เมื่อตั้งเวลาถ่ายตัวเอง หรือใส่แว่นตา จะทำให้แสงลอดเข้าไปยังเครื่องวัดแสงจากด้านหลังกล้องได้ ผลคือ ค่าแสงผิดพลาด 

ในกรณีนี้ป้องกันได้โดยปิดช่องมองภาพโดยปิดม่านชัตเตอร์ที่เลนส์ตา (มีในกล้องหลายรุ่น เช่น Nikon D3) หรือใช้ที่ปิดช่องมองภาพที่มักจะแถมมากับกล้องก็ได้ การใส่ Eye-cup จะช่วยตัดแสงรบกวนที่ผ่านเลนส์ตาไปยังเครื่องวัดแสง ทำให้กล้องวัดแสงได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

ชัตเตอร์ที่ช่องมองภาพ มีไว้เพื่อป้องกันแสงไม่ให้รบกวนเซ็นเซอร์วัดแสงเมื่อไม่ได้เอาตาแนบช่องมองภาพ หรือมีแสงลอดเข้าทางช่องมองภาพ และป้องกันแสงไม่ให้ย้อนกลับเข้าอิมเมจเซ็นเซอร์เวลาเปิดรับแสงยาวๆ แล้วมีแสงส่องเข้าทางด้านหลังช่องมองภาพ ภาพจาก http://photo.net/nikon-camera-forum/00VVSF