เรื่อง+ภาพ : Apochtophy’s
อีกสิ่งหนึ่งของภาพถ่ายที่นอกเหนือจากการบันทึกความประทับใจ หรือความสวยงามนั้นก็คือ การใช้ภาพถ่ายเป็นบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้นั่นเอง เราจะเห็นได้ว่า มีภาพถ่ายอยู่เป็นจำนวนมากที่ถ่ายทอดมุมมองของสถานที่ต่างๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือ ตัวบุคคลที่มีความสำคัญในแต่ล่ะช่วงเวลาต่างๆ ของอดีตที่ผ่านมาเก็บบันทึกไว้มากมาย สำหรับในภาพถ่ายศิลปะนั้นก็มีแนวภาพอยู่ประเภทหนึ่งที่มีจุดเริ่มมาจากการที่ช่างภาพต้องการบันทึกภาพ เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั่นก็คือ ภาพถ่าย Cityscape
จุดเริ่มของการบันทึกภาพ Cityscapeมีที่มาในเรื่องของการนำไปใช้เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ในสังคมไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคมและความเป็นอยู่ และรวมไปถึงค่านิยมและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายนั้น การถ่ายภาพเองก็มีการเปลี่ยนแปลงควบคู่กันมาด้วย ทำให้มีการถ่ายภาพแบบที่เราเรียกว่าภาพ Document Photography ที่มีการบันทึกสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาเหล่านั้นไว้เกิดขึ้นมา ทีนี้ด้วยการจัดองค์ประกอบศิลป์ของช่างภาพ หรือ มุมมองที่ต้องการจะสื่อออกมานอกเหนือไปจากการบันทึกภาพทั่วๆ ไปทำให้ภาพเหล่านั้นไม่เพียงเป็นแค่ภาพสารคดีบันทึกธรรมดา แต่กลับกลายเป็นภาพถ่ายศิลปะที่มีความสวยงามผสมปนอยู่ด้วย ทำให้เกิดความน่าสนใจ และแพร่หลายมากยิ่งขึ้นจนเป็นภาพถ่าย Cityscape
ภาพ Cityscape ฟังดูแล้วอาจทำให้หลายคนนึกไปถึงภาพถ่ายสถาปัตยกรรม (Architecture) อาจจะด้วยลักษณะของภาพนั้นจะเป็นภาพถ่าย บ้านเรือน อาคาร เสียเป็นส่วนมาก แต่สิ่งที่มีความแตกต่างกันนั้นก็คือ ภาพถ่ายสถาปัตยกรรม จะเน้นไปที่การบันทึกภาพโครงสร้าง รูปทรง ความงดงามทางสถาปัตย์ของตัวอาคารต่างๆ แต่ภาพ Cityscape จะมุ่งเน้นไปที่สภาพแวดล้อมในตัวเมือง สภาพของเมือง หรือแม้แต่วัตถุที่เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของเมืองทั้งในลักษณะแคบและกว้าง ดังนั้นภาพ Cityscape จึงมีความหมายที่ค่อนข้างกว้างกว่าภาพสถาปัตยกรรมอยู่พอสมควร
ถ้าจะให้สรุปรวมๆ ภาพถ่าย Cityscape ก็คงจะเป็นภาพที่แสดงลักษณะของสภาพเมืองในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความงามด้านโครงสร้างของตัวอาคารแต่ล่ะแห่ง สีสัน วัตถุ ช่วงเวลา วัฒนธรรม ค่านิยม ที่เกิดขึ้นในแต่ละสังคม ในแต่ล่ะยุคสมัยที่เราสามารถพบเจอและให้ความสนใจ ซึ่งในบางครั้งความสนใจนั้นอาจจะอยู่ที่สภาพของเมืองทั้งเมืองหรืออาคารใดอาคารหนึ่ง ภาพถ่าย Cityscape จะมุ่งเน้นไปที่สภาพเมือง จึงไม่ค่อยจะมีคน ให้เห็นอยู่ในภาพมากนัก
ภาพ Cityscape นั้นจะมีเทคนิคการถ่ายภาพที่คล้ายคลึงกับภาพถ่าย Landscape โดยเริ่มจากเลนส์ที่ใช้ ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่เลนส์ช่วงมุมกว้าง (12 มม. ถึง 35 มม.) ไปจนถึงเลนส์เทเลโฟโต้ (70 มม. ถึง 200 มม.) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราสนใจและให้ความสำคัญว่าเป็นวัตถุขนาดเล็ก หรือ ใหญ่มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้การควบคุมระยะชัดของภาพด้วยขนาดของรูรับแสงก็เป็นสิ่งสำคัญ เทคนิคการถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างก็คือจะทำอย่างไรให้ภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างนี้ ถ่ายออกมาแล้วองค์ประกอบของภาพไม่หลวมจนเกินไป ซึ่งตามคุณสมบัติของเลนส์แล้วนั้น เลนส์มุมกว้างจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าภาพนั้นไกลออกไปจากความเป็นจริง และยังทำให้ตัววัตถุที่เราจะถ่ายมีขนาดเล็กลงแต่วัตถุที่อยู่ใกล้กล้องมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาพมีสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนได้ (ปัญหานี้จะเกิดกับเลนส์ที่มีช่วงทางยาวโฟกัสที่กว้างมากๆ)
สิ่งสำคัญอีกจุดหนึ่งก็คือเรื่องของช่วงเวลาในการถ่ายภาพ ช่วงเวลาที่เราเลือกถ่ายภาพจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของแสง ซึ่งมีจะมีผลต่ออารมณ์ และมิติที่มีอยู่ในภาพได้นอกจากนี้สถานที่บางแห่งจะมีความสวยงามมากกับช่วงเวลาเพียงบางช่วง หรือ แค่ระยะเวลาหนึ่งของวันเท่านั้น ดังนั้นการสำรวจล่วงหน้าไว้บ้างก็เป็นการดีที่จะทำให้เราได้ภาพที่สวยงามที่สุดได้
ในภาพถ่ายจะมีเพียงด้านกว้างและด้านยาวเท่านั้น สิ่งที่จะเป็นตัวสร้างมิติ และระยะ ให้เกิดขึ้นในภาพนั้นได้ก็คือ Perspe-ctive การนำ Perspective มาใช้ในภาพถ่ายนอกจากจะทำให้ภาพดูมีมิติขึ้นแล้วยังใช้เป็นตัวช่วยกำหนดทิศทางที่จะนำสายตาของผู้ชมภาพให้ไปสู่สิ่งที่เราต้องการจะเน้นหรือให้ความสนใจได้ การก้มหรือเงยหน้ากล้องเพียงเล็กน้อย ก็จะมีผลต่อ perspective ของภาพได้ (เอาไว้เราจะไปคุยรายละเอียดกันในเรื่องของ Perspective กันอีกที ถ้าผมไม่ลืมเสียก่อนนะครับ)
ภาพ Cityscape ที่น่าสนใจจริงๆแล้วไม่ได้อยู่ที่ตัวสถานที่ที่อยู่ภายในภาพเพียงเท่านั้น มุมมองและ เรื่องราวที่เราเลือกแสดงออกมาต่างหากที่เป็นสิ่งที่สร้างความน่าสนใจและดึงดูดสายตาของผู้ชมให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งในบางครั้งจะเห็นว่า สถานที่ที่ใช้ถ่ายภาพไม่ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นเป็นแลนด์มาร์คแต่อย่างใดเลย และไม่จำเป็นต้องเป็นภาพมุมสูงจากบนดาดฟ้าตึกเท่านั้น ขึ้นอยู่กับตัวผู้ถ่ายภาพเองนั้นว่า ต้องการจะนำเสนอออกมาแบบใด วิธีที่ช่วยได้คือการที่เราอาจจะตั้งหัวข้อขึ้นมาก่อนออกไปถ่ายภาพ เช่น ย่านบ้านเก่าในถนนเจริญกรุง หรือ สะพานในสมัย ร.5, ตึกสูงกรุงเทพ ฯลฯ หัวข้อเหล่านี้ล้วนทำให้การออกไปถ่ายภาพมีจุดมุ่งหมายมากขึ้นได้
ผมอยากให้ผู้ที่รักการถ่ายภาพทุกท่านลองหันมาสนใจกับ สิ่งที่ธรรมดาดูบ้าง สิ่งที่ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรมากนัก สิ่งที่เป็นเพียงส่วนประกอบเล็กในเมืองใหญ่ สิ่งเหล่านี้ถ้าเราหาเวลาลองสังเกตดูดีๆ แล้วจะสามารถสร้างความน่าสนใจขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ ไว้คราวหน้าถ้าหากมีภาพศิลปะประเภทใดน่าสนใจ ผมจะนำมาเสนอให้กับทุกท่านอีก คิดว่าน่าจะลองเปลี่ยนจากเรื่ององค์ประกอบไปเป็นอย่างอื่นดูบ้างก็ขอให้คอยติดตามกันเหมือนเดิมนะครับ แต่จะเป็นเรื่องอะไรนั้นต้องขออุบไว้ก่อนก็แล้วกัน แล้วพบกันใหม่ครับ…