เรื่อง+ภาพ : eyejung
ถ้าพูดถึงเรื่องถ่ายนกถือว่าห่างไกลจากผู้เขียนมากกกกก…. ถึงมากที่สุด เรียกว่าไม่เคยคิดจะไปถ่ายเลยก็ว่าได้แต่ด้วยภารกิจที่ต้องมีการยืมจัดอุปกรณ์ทดสอบให้โปรอยู่บ่อยๆ เลยต้องขอแอบตามไปดูการถ่ายภาพกับเขาบ้าง ซึ่งตัวเราก็มีเลนส์เพียงตัวเล็กๆ เน้นความบางเบา เหมาะกับคนตัวเล็กๆ เช่นเรา ส่วนสายโปรก็แบกกันพะรุงพะรังกันไป จุดหมายปลายทางของเราในทริปนี้คือ…จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นจังหวัดเล็กๆ คนในพื้นที่บอกว่า “จังหวัดพิจิตร เปรียบเหมือนเป็น ขี้หูจังหวัดพิษณุโลก” คิดดูสิ ว่าจะเล็กขนาดไหน
ส่วนจังหวัดพิจิตรก็เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง เรียกว่าส่วนใหญ่จะเป็นเมืองทางผ่านไปภาคเหนือ สถานที่ท่องเที่ยวอาจจะนึกกันไม่ค่อยออกว่าจะเที่ยวที่ไหน ถ้าเราเดินทางไปภาคเหนือ เมื่อเข้าสู่จังหวัดพิจิตร เราจะเป็นสัญญลักษณ์เป็นหุ่นจระเข้น้ำจืด แต่งกายในแบบพื้นเมือง คือ รู้เลยว่าเราได้ก้าวสู่จังหวัดพิจิตรแล้ว ด้วยจังหวัดพิจิตรเป็นเมืองเกษตรกรรม เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวขนาดใหญ่อีกหนึ่งจังหวัด ส่วนที่ใช้สัญญาลักษณ์จระเข้ เพราะถิ่นกำเนิดนิทานพื้นบ้านเรื่อง “ไกรทอง” หรือจะรู้จักจังหวัดพิจิตรอีกหนึ่งชื่อเรียก “เมืองพญาชาละวัน” ก็ว่าได้ นอกจากเราจะคุ้นตากับจระเข้แล้ว แต่ที่จังหวัดพิจิตร ยังมีของดีที่ใครๆ ก็ถวิลหาสำหรับผู้นิยมชมชอบพระเครื่อง หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน (วัดหิรัญญาราม) รุ่นพิมพ์นิยม ราคาแตะเลข 8 หลักเลยทีเดียว ส่วนรุ่นอื่นๆ ราคาก็ลดหลั่นกันไป เป็นของดีประจำจังหวัดเลยก็ว่าได้ และอีกอย่างที่ขึ้นชื่อจนเราต้องเดินทางมาพิจิตร เพราะที่นี่เป็นแหล่งดูนกหายาก ที่นักถ่ายภาพต้องออกตามหา เป้าหมายเราอยู่ที่ บึงสีไฟ ที่เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศไทย มีพื้นที่กว่า 5 พันไร่ จากสภาพความอุดมสมบูรณ์ของ บึงสีไฟ ตามธรรมชาติ บึงสีไฟ จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด ร่วมทั้งแหล่งอาศัยของนกหลายชนิดมีทั้งฝูงนกกระยางน้อยใหญ่ นกอพยพ หนีหนาว มากันเป็นฝูงใหญ่ และยังมีนกบางชนิดที่นับวันใกล้จะสูญพันธุ์แบบว่าหาดูได้ยากก็มารวมตัวกันอยู่ที่พิจิตร
แล้วทำไมจังหวัดพิจิตร ถึงกลายเป็นแหล่งดูนกขนาดใหญ่ไปได้มาครั้งนี้เราได้รับคำตอบจาก คุณทศพล เตียวประเสริฐกุล หนึ่งในสมาชิก Phichit Birding ว่าที่นกมารวมตัวกันอยู่ที่จังหวัดพิจิตรจำนวนมาก เพราะที่จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่เป็นเกษตรอินทรีย์กว่า 6 หมื่นไร่ ทำให้ทั้งนก เหยี่ยว หนีจากจังหวัดที่ทำนาเคมี ด้วยการเพาะปลูกที่พิจิตรไม่ใช้สารเคมีจึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติของจังหวัดพิจิตร จึงเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศให้กับนกนานาชนิด จนกลายเป็นว่าตอนนี้จังหวัดพิจิตรเป็นแหล่งรวมนกหายาก และกลุ่มนกที่อพยพหนีหนาว
ฟังเรื่องราวต่างๆ กันไปแล้วจากทางเจ้าบ้าน ก็ได้เวลาพาแก็งค์มือโปรไปส่องนกกัน มือสมัครเล่นอย่างเราพลาดไม่ได้เด็ดขาดที่จะติดตามไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับการถ่ายนกครั้งแรก เห็นมืออาชีพแบกเลนส์แล้ว รู้สึกว่าคนถ่ายภาพนกที่ต้องรักการถ่ายภาพนกแค่ไหนเพราะเลนส์แต่ละตัวที่มือโปรถือ บอกได้คำเดียวว่าไม่รักจริงคงถอดใจไปกับน้ำหนักอุปกรณ์กันก่อนแล้ว ขนาดตัวผู้เขียนมีเลนส์เทเลตัวเล็กๆ ยังแทบไม่ค่อยอยากแบกไปไหน สิ่งแรกที่เราได้จากการตามโปร คือ เขารู้ว่าจุดที่จะไปถ่ายต้องอยู่ที่ไหน ซึ่งถ้าไปเองเราแทบจะหานกไม่เจอ อาจจะเจอแต่นกบ้านๆ อย่าง นกปากห่าง นกกระยาง นกพิราบ ไปกับโปร เข้าจะชี้บอกเลยว่านกอยู่ตรงนี้ และเป็นนกอะไร ได้ความรู้เรื่องนกกันไปด้วย ที่สำคัญถ่ายให้ได้ นั่นแหละคือปัญหาของมือใหม่อย่างเรา ด้วยความไม่เคยชินกับมุมมองของเลนส์เทเล ที่มองเห็นเป็นมุมแคบ และตัวของนกก็เล็กมาก แถมความยาก คือสีของนกที่เลียนแบบตามทำธรรมชาติ เพื่อการพลางตัว นกหายากที่เราเจอ มาเจอมือใหม่หัดถ่ายกลายเป็นนกหายากคูณสอง เพราะหานกจากช่องมองภาพไม่เจอ บทเรียนที่หนึ่งเริ่มขึ้นเลยที่เดียว ทำอย่างไง ที่จะหานกให้เจอ ทั้งที่เราเห็นนกอยู่แล้ว ซึ่งได้ทริคจากมือโปรมาว่า…ให้มองจุดใกล้เคียงที่นกเกาะอยู่… เช่น นกเกาะใกล้ใบไม้ใบนี้ก็ยกกล้องขึ้นเล็งไปที่ใบไม้นั้นก่อนแล้วค่อยเลื่อนมายังจุดที่นกเกาะอยู่ ซึ่งก็ทำให้มือใหม่หัดถ่าย พอจะเจอนกบ้างแล้ว
จากนกเล็กๆ เจ้าถิ่นจะพาไปถ่ายเหยี่ยว ซึ่งเป็นนกนักล่าเหยื่อ ไม่บอกก็รู้ว่าจะบินเร็วแค่ไหน และครั้งนี้เราเจอเหยี่ยวที่หายากมาก พบเห็นน้อยมากในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะพบเห็นในฤดูกาลที่มีนกอพยพ ซึ่งในแต่ละปีก็จะเจอในแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไป แต่ปีนี้เราพบเจ้า เหยี่ยวนิ้วสั้น ที่ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เจอเหยี่ยวบินท้าเวหาแบบนี้ มือใหม่หัดถ่ายถึงกลับไปไม่เป็นกันเลยที่เดียว ขนาดนกเกาะอยู่ยังหาไม่ค่อยเจอ บินล่อนท้าเวหาแบบนี้ ท้าท้ายฝีมือกันสุดๆ จะหาเจอไหมล่ะเนี่ย บอกได้คำเดียววืดครับงานนี้ มือใหม่อย่างเราถึงกับไปไม่เป็นตกม้าตายไปซ่ะดื้อๆ ส่วนมือโปรลั่นชัตเตอร์ รั่วกันเป็นปืนกล มือใหม่อย่างได้แต่มองตาปริบๆ จุดนี้พลาดไป ปลอบใจตัวเองไปพลางๆ จุดหน้าแล้วกัน กระโดดขึ้นท้ายกระบะ นอกจากช่างภาพสายหนักจะแบกอุปกรณ์ถ่ายภาพนับเกือบ 10 กิโล แล้ว ช่างภาพสายนกยังต้องอึดและถึกมากๆ สายตาต้องดี สอดส่องหานกกันไป แบกอุปกรณ์ขึ้นลงรถ นั่งกินฝุ่นจนตอนนี้ผู้เขียนรู้สึกชีวิตตัวเองเปื้อนฝุ่นสุดๆ นั่งท้ายกระบะคลุกฝุ่นกันไป อีกหนึ่งประสบการณ์การถ่ายภาพที่โหดมันฮา
เจอเหยี่ยวนิ้วสั้นว่าหายากแล้ว รอบนี้เจอ นกอินทรีย์หัวไหล่ขาว ที่สุดของแจ้เลยที่เดียว ถ้าไม่ได้มากับมือโปรเราคงจะไม่ทราบว่าตัวนี้หายากมากกก… นับ ก… ไม่ถูกกันทีเดียว เพราะว่า เป็นนกที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นกอินทรีหัวไหล่ขาว นั้นเรียกได้ว่าหายาก ปีหนึ่งๆ มีรายงานการพบในประเทศไทยเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น แต่เราเจอที่ อ.ตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ต้องบอกว่าจังหวัดเล็กๆ แบบนี้ มีดีจริงๆ ที่นักหายากมากมายหลายชนิดมารวมตัวอยู่กันที่นี่
นกอินทรี เป็นนกจำพวกนกล่าเหยื่อขนาดใหญ่ เป็นเจ้าเวหาผู้ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งนกที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกมีอายุสูงถึง 70 ปี เป็นนกที่ได้ชื่อว่าเป็นนักรบ เป็นนักล่าที่ดุร้ายมาก มันกินทุกๆ อย่างที่มันจับได้ ตั้งแต่ หนู นก จนกระทั่ง ลูกสิงโตตัวเล็ก หรือแม้แต่ละมั่งเลยทีเดียว โหดใช่ไหมล่ะ เมื่อกี่เจอเหยี่ยวว่าถ่ายยากแล้ว แต่นกอินทรีเป้าใหญ่กว่าน่าจะดีขึ้น ซึ่งก็จริง เป้าใหญ่กว่าบินสง่างามมาก ฟังมือโปรลั่นชัตเตอร์ แล้วอดใจไม่ได้ เป้าใหญ่กว่า ถ่ายมาได้เหมือนกัน แต่ได้นกอินทรี ที่แทบจะเป็นจุดเล็กๆ ในภาพ ด้วยอุปกรณ์ไม่ถึงเท่ารุ่นใหญ่เขา ดูรูปมือโปรเขาถ่ายขนาดอุปกรณ์ถึง ยังได้แค่นกตัวเล็กๆ แต่มือใหม่อุปกรณ์ก็ไม่ถึง ได้นกอินทรีเป็นฝุ่น เล็กๆ ในภาพเลย เป่าเบาๆ ก็หายไป นอกจากจะได้นกอินทรีที่เห็นเป็นฝุ่นยังไม่พอ ยังโฟกัสไม่เข้าเป้าอีก เปิดภาพดูแล้วแถบร้องไห้กันเลยมือใหม่หัดถ่ายต้องมาเรียนรู้เรื่องระบบโฟกัส การบ้านต่อมาก็ต้องมาเรียนรู้การปรับตั้งอุปกรณ์กันใหม่ ว่ากล้องที่มีอยู่ในมือมีศักยภาพอะไรบ้าง โฟกัสติดตามวัตถุ วัดความแน่นเรื่องการโฟกัสกันเลย ซึ่งก็เป็นอะไรที่ท้าท้ายมากลุ้นทุกลมหายใจในการกดชัตเตอร์ แค่กดเข้าเป้าก็ดีใจแล้ว แต่มือโปรท่านแอดวานซ์มาก บอกต้องได้สายตานกที่มองเข้ากล้องด้วย โห…ยากขึ้นไปอีก
ตามล่านกหายากที่ได้มาหลายชนิด (ในความทรงจำ) ซึ่งก็ได้นกหายากที่เรียกว่าเป็นที่สุดของที่สุดแล้ว แต่ผู้เขียนคงได้บักทึกไว้ได้แค่ความทรงจำ พลาดเป้าไปพอสมควรกับการถ่ายนกหายาก วันนี้เจ้าถิ่นพาไปเก็บภาพฝูงเป็ดแดงที่อพยพหนีหนาวมาอยู่รวมตัวฝูงใหญ่ที่บึงสีไฟ งานแก้ตัวก็มา หลังจากเรียนรู้จากความผิดพลาดกับนกหายากไปแล้ว ฝูงเป็ดแดงก็เป็นจุดที่ให้ซ้อมมือ และเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพติดตามวัตถุ ซึ่งงานนี้นักถ่ายภาพหน้าใหม่ไม่พลาดที่จะได้ภาพฝูงเป็ดแดงสวยงามกลับมาชื่นชม เรียกแรงใจกลับมาให้มีกำลังใจขึ้นเยอะ นอกจากเป็ดแดงแล้ว ยังมีนกน้ำที่เป็นนกประจำถิ่นที่หายากอีกหลายชนิด ซึ่งนักถ่ายภาพนกคงจะพลาดไม่ได้ที่ต้องมาเยือน ยิ่งช่วงอพยพหนีหนาวแล้ว จังหวัดพิจิตรเปรียบเหมือนเป็นสวรรค์ของช่างภาพสายนกเลย นาทีทองอยู่ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พลาดช่วงนี้ไปแล้ว ต้องรออีกที่ปีหน้า ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะเจอนกที่ว่าหายากไหม เพราะนกมันมีปีก มันสามารถบินไปไหนก็ได้ วันนี้เจอพรุ่งนี้อาจไม่เจอ ไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่าไปแล้วต้องเจอ ถ้าช่างภาพเข้าใจในธรรมชาติก็จะรู้ว่า ธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุมมันไม่สามารถกะเกณฑ์อะไรได้ 100% แต่สิ่งที่เราทำได้แน่ๆ คือ อย่าทำร้ายธรรมชาติ และอย่าอยากได้ภาพจนไปรบกวนการดำรงชีวิตของเขา
ทริปตามมือโปร นอกจากจะได้ภาพแล้ว เรายังได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน การเรียนรู้พฤติกรรมนก ก็จะทำให้เราถ่ายภาพนกได้สวยงามมากขึ้น การถ่ายภาพครั้งแรกถึงจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่ล้ำค่าสุด คือประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่ได้จากโปรทุกๆ ท่าน โลกนี้ช่างกว้างใหญ่ที่ให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างไม่รู้จบ