ในการจัดองค์ประกอบภาพ การสังเกตเป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้น เรื่องของทัศนธาตุ (visual element) จึงมีบทบาทในการเข้ามาช่วยให้การจัดองค์ประกอบภาพง่ายขึ้น ในตอนที่แล้วผมพูดถึงเนื่องของเส้น (line) ซึ่งเป็นทัศนะธาตุหนึ่งที่เป็นพื้นฐาน และในตอนนี้ก็เป็นเรื่องของรูปร่าง และรูปทรง (Shape & Form)

รูปร่างและรูปทรง เป็นอีกหนึ่งพื้นฐานที่สำคัญ การมองหารูปร่างและรูปทรงในภาพ หรือในสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก่อนที่เราจะถ่ายภาพ วัตถุทุกอย่างนั้นล้วนมีโครงสร้างของรูปร่างและรูปทรงต่างกันออกไป การจัดวางองค์ประกอบ ควรทำความเข้าใจก่อนว่า รูปร่างและรูปทรงนั้นมีลักษณะอย่างไร

รูปร่างและรูปทรงนั้นเป็นส่วนประกอบที่เกิดจากเส้น ลักษณะต่างๆ มาประกอบกันขึ้น

รูปร่าง (Shape) คือ ภาพที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะเส้นรอบนอกของวัตถุ มี 2 มิติ คือด้านกว้างกับด้านยาวไม่มีความหนาเกิดจากเส้นรอบนอกที่แสดงพื้นที่ขอบเขตของรูปต่างๆ เช่น รูปวงกลม รูปสามเหลี่ยม หรือ รูปอิสระที่แสดงเนื้อที่ของผิวที่เป็นระนาบ

รูปทรง (Form) คือ ภาพที่มีลักษณะเป็น 3 มิติ โดยนอกจากจะแสดงมิติด้านกว้าง ด้านยาวแล้ว ยังมีมิติด้านลึก ด้วยเช่น รูปทรงกลม ทรงสามเหลี่ยม ทรงกระบอก เป็นต้น ให้ความรู้สึกมีปริมาตร ความหนาแน่น มีมวลสาร ที่เกิดจากการใช้ค่าน้ำหนัก หรือการจัดองค์ประกอบของรูปทรงหลายรูปรวมกัน

ลักษณะของรูปร่างและรูปทรง

รูปร่างและรูปทรงสามารแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

1. รูปร่างและรูปทรงเรขาคณิต (Geometric Form หรือ Basic Form) มีรูปที่แน่นอน มาตรฐาน สามารถวัดหรือ คำนวณได้ง่าย มีกฎเกณฑ์ เกิดจากการสร้างของมนุษย์ เช่น รูปสี่เหลี่ยมรูปวงกลม รูปวงรี นอกจากนี้ยังรวมถึงรูปทรงของสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นอย่างมีแบบแผน แน่นอน เช่น รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องบิน สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ

2. รูปร่างและรูปทรงธรรมชาติ (Nature Form) เป็นรูปของสิ่งที่มีชีวิต หรือ คล้ายกับสิ่งมีชีวิตที่สามารถ เจริญเติบโต เคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนแปลงรูปได้ เช่นรูปของคน สัตว์ พืช ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ

3. รูปร่างและรูปทรงอิสระ (Free Form) เป็นรูปที่ไม่ใช่แบบเรขาคณิต หรือแบบธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นอย่างอิสระ ไม่มีโครงสร้างที่แน่นอน ซึ่งเป็นไปตามอิทธิพลและการกระทำจากสิ่งแวดล้อม เช่น รูปก้อนเมฆ ก้อนหิน หยดน้ำ ควันซึ่งให้ความรู้สึกที่เคลื่อนไหว มีพลัง รูปอิสระจะมีลักษณะ ขัดแย้งกับรูปเรขาคณิต แต่กลมกลืน กับรูปธรรมชาติ รูปอิสระอาจเกิดจากรูปเรขาคณิตหรือรูปธรรมชาติ ที่ถูกกระทำ จนมีรูปลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิมจนไม่เหลือสภาพ เช่น รถยนต์ที่ถูกชนจนยับเยินทั้งคัน เครื่องบินตก ตอไม้ที่ถูกเผาทำลาย หรือซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุพัง

เมื่อนำรูปทรงหลายๆ รูปมาวางใกล้กัน รูปเหล่านั้นจะมีความสัมพันธ์ดึงดูด หรือผลักไส ซึ่งกันและกัน การประกอบกันของรูปทรงอาจทำได้โดย ใช้รูปทรงที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน รูปทรงที่ต่อเนื่องกัน รูปทรงที่ซ้อนกัน รูปทรงที่ผนึกเข้าด้วยกัน รูปทรงที่แทรกเข้าหากัน รูปทรงที่สานเข้าด้วยกัน การนำรูปร่างรูปทรงเรขาคณิต รูปร่างรูปทรงธรรมชาติและรูปร่างรูปทรง อิสระมาประกอบเข้าด้วยกัน จะได้รูปลักษณะใหม่ๆ อย่างไม่สิ้นสุด

ในการถ่ายภาพ

ในการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายโดยนำรูปร่างและรูปทรงมาใช้นั้น สิ่งสำคัญก็คือ เรื่องของทิศทางแสง ซึ่งทิศทางแสงจะเป็นสิ่งกำหนดว่าวัตถุที่ถ่ายจะออกมาเป็นรูปร่างหรือรูปทรง

ทิศทางของแสงที่ทำให้เกิดรูปร่าง

ภาพลักษณะรูปร่างนั้น ทิศทางของแสงส่วนใหญ่จะเป็นแสงที่มีทิศทางมาจากด้านหลัง (Back Light) และแสงเฉียงหลัง (Semi-Back Light) แสงหลังจะทำให้วัตถุที่เราถ่ายมีลักษณะเป็นภาพโครงทึบ หรือที่เราเรียกกันว่า ภาพย้อนแสง (Silhouette) ซึ่งภาพลักษณะนี้จะไม่แสดงรายละเอียดของวัตถุที่เราถ่ายจะเห็นเพียงรูปร่างของวัตถุเท่านั้นการถ่ายภาพย้อนแสงมีหลักการโดยควรถ่ายให้ภาพมีช่วงความชัดลึก โดยเปิดช่องรับแสงให้แคบกว่าปกติเล็กน้อย พยายามเลือกวัตถุที่มีโครงร่างที่สวยงาม มีลักษณะเฉพาะตัวการถ่ายภาพนั้น หามุมย้อนแสงโดยวางจังหวะของดวงอาทิตย์ให้พอดี สำหรับแสงเฉียงหลังนั้นจะส่งผลต่อภาพโดยทำให้เกิดเส้นขาวขึ้นที่ขอบของวัตถุที่ถ่าย หรือ ริมไลท์ (Lim Light) ซึ่งเส้นขาวๆ เหล่านี้จะเป็นรูปร่างตามลักษณะของวัตถุ ซึ่งเรานำมาใช้ในการเน้นรูปร่างของสิ่งที่เราจะถ่ายซึ่งจะแยกออกมาจากฉากหลังด้วยแสงลักษณะนี้

ทิศทางของแสงที่ทำให้เกิดรูปทรง

ภาพลักษณะรูปทรงทิศทางของแสง โดยมากจะเป็นแสงข้าง (Side Light) และแสงเฉียงหน้า (Semi-Front Light) แสงทั้ง 2 แบบนี้มีผลที่ทำให้เกิดมิติที่ 3 ของภาพคือความลึก ทำให้วัตถุที่ถ่ายเกิดเป็นลักษณะรูปทรงไม่แบนราบ แสงข้างนี้จะทำให้เห็นรายละเอียดต่างๆ ของสิ่งที่เราจะถ่ายชัดเจน รูปทรงของวัตถุจะเด่นชัดดูมีมิติหรือดูลึก เหมาะกับวัตถุที่เราต้องการเน้นรูปทรงมากกว่ารูปร่าง

ในการถ่ายภาพรูปร่างและรูปทรงนั้น การเลือกวัตถุที่จะถ่ายมีส่วนสำคัญอย่างมาก โดยต้องพิจารณาก่อนว่า สิ่งที่เราจะถ่ายภาพนั้นเหมาะสำหรับภาพรูปร่างหรือควรจะเป็นภาพรูปทรง ถ้าเป็นภาพรูปร่าง วัตถุที่จะถ่ายภาพควรมีลักษณะของตัววัตถุที่เห็นชัดเจน มีช่องว่างระหว่างกัน ไม่ทึบตัน เพราะว่าภาพที่เราจะถ่ายให้เป็นภาพรูปร่างนั้นไม่ได้เน้นที่รายละเอียดของวัตถุ แต่จะเน้นที่รูปร่างภายนอกที่มีความสวยงามเท่านั้นเอง ส่วนภาพรูปทรงนั้น วัตถุที่จะถ่ายควรมีความลึกนูนไม่แบนราบ มีรายละเอียดพอสมควร (อันนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของวัตถุ) เพราะภาพรูปทรงเป็นภาพที่แสดงในมิติด้านลึก ภาพจะดูแตกต่างจากภาพรูปร่างที่แบนกว่า

นอกจากการพิจารณาวัตถุก่อนถ่ายภาพแล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ การเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพ ในบางครั้งวัตถุที่เราจะถ่ายไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ การรอช่วงเวลาที่เหมาะสมจะทำให้เราได้ภาพที่สวยงาม โดยเฉพาะกับภาพรูปร่าง ที่เป็นภาพโครงทึบ การรอคอยเพื่อให้ได้ช่วงเวลาที่ดีที่สุดก็จะทำให้คุณได้ภาพถ่ายที่ดีที่สุดเหมือนกันครับ เช่น ช่วงเวลาที่ทิศทางของแสงมาด้านหลัง