เรื่องและภาพ…
นพดล อาชาสันติสุข
สมโภช แตงไทย

จากการเปิดตัวของกล้อง Canon EOS R3 ได้ยินหลายท่านเหมือนกันที่กล่าวว่ากล้องรุ่นนี้เป็นกล้องรุ่นเรือธง (Flag ship) ของกล้อง Canon ใน EOS R Series ซึ่งก็ต้องบอกว่า ณ. วันนี้คงจะใช่ละครับ…แต่ถ้าสังเกตจากการออกกล้องรุ่นใหม่ๆ เรียงเลขของ Canon กันแล้ว…ผมว่าน่าจะยังมีกล้องเรือธงในตระกูล R ออกต่อไปอีก…ซึ่งน่าจะเป็น Canon EOS R1…ด็ต้องดูกันต่อไปละครับ

แล้ว Canon EOS R3 รุ่นนี้จัดอยู่ในอันดับไหนละครับท่าน…สำหรับแฟนๆ ของ Canon ขนานแท้ตั้งแต่ยุคของกล้องฟิล์มคงจะได้เจอกับกล้องรหัสเลข 3 กันมาแล้ว…ก็ขอเท้าความเป็นเรื่องรู้เกี่ยวกับกล้อง Canon ในรหัสเลข 3 ให้กับแฟนๆ Canon รุ่นใหม่ได้รับทราบกันหน่อยให้ได้รู้ถึงความเป็นมากล้อง Canon ในรหัส 3 นี้ครับ

Canon ได้ออกกล้องรหัสเลข 3 ครั้งสุดท้ายในปี 1998 หรือ พ.ศ. 2541 ก็ในราว 24 ปีมาแล้ว ในยุคของกล้องที่ยังใช้ฟิล์มถ่ายภาพ ชื่อรุ่นว่า Canon EOS 3…ซึ่งในเวลานั้นได้สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากในวงการถ่ายภาพ ด้วยเป็นกล้องรุ่นแรกของโลกเลยก็ว่าได้ ที่มีระบบ Eye Control AF ใช้สายตาในการโฟกัสวัตถุเพียงแต่มองที่วัตถุโฟกัสก็จะวิ่งไปโฟกัสที่วัตถุได้โดยตรง ทำงานด้วยระบบ Sensor ตรวจจับผ่านตำแหน่งการมองของม่านตา มีจุดโฟกัสในการทำงาน 45 จุด ซึ่งถือว่า Canon EOS 3 มีจุดโฟกัสที่เยอะมากในเวลานั้น…ทำให้กล้อง Canon EOS 3 ถูกจัดเป็นกล้องระดับ Professional รุ่นน้องๆ รองจาก Canon EOS 1 ที่เป็นกล้องระดับเรือธงแต่ก็ยังไม่มีการติดตั้งระบบนี้ให้ใช้งาน

Canon EOS R3 แน่นอนว่าการปรากฏตัวของกล้องรุ่นนี้ต้องได้รับการพัฒนามาอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้เป็นกล้องระดับมืออาชีพในระบบ Mirror less ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์แบบ Full frame ความละเอียด 24.1 ล้านพิกเซล ที่สำคัญก็คือ ได้รวมเอาความเก่ง ความสุดยอดหลายประการของ Canon 1DX mark III มาบรรจุไว้ให้พร้อมใช้งานเลยทีเดียว

คุณลักษณะเด่น

ติดตั้งเซ็นเซอร์แบบ CMOS เป็นเซ็นเซอร์ขนาด Full-frame ความละเอียด 24.1 ล้านพิกเซล ให้คุณภาพสูง ในระบบ Back-illuminaed Stacked ส่งผ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และลดอาการ rolling shutter ให้ต่ำมากๆ

ติดตั้ง Image processor DIGIC X (รุ่นเดียวกับที่ใช้ใน Canon EOS 1DX mark III) ที่สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ให้สามารถถ่ายภาพความเร็วแสงสูง ตั้งแต่ ISO 100-102400 ปรับเร่งได้สูงสุดถึง 204800

ถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงสุดถึง 30 ภาพต่อวินาที เมื่อใช้ชัตเตอร์เป็นระบบ Electronic shutter และถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็ว 12 ภาพต่อวินาที เมื่อตั้งเป็นระบบ Mechanic shutter

ระบบ Dual Pixel CMOS AF II ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น มีจุดโฟกัส 1,053 จุด Automatic AF Zone

พัฒนาระบบ Servo AF ในการตรวจจับดวงตา ใบหน้า ร่างกาย ทั้งของผู้คน (People) สัตว์ (Animal) และที่เพิ่มมากขึ้นก็คือ ยานพาหนะ (Vehicle) เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพการแข่งขันยานพาหนะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ มอร์เตอร์ไซค์

Eye Control AF

กล้อง Canon EOS R3 เป็นกล้องในระบบ EOS Digital ตัวแรกที่ได้รับการติดตั้งระบบ Eye Control AF ที่เพียงมองวัตถุที่ต้องการโฟกัสผ่านช่อง Electronic View finder แตะชัตเตอร์ 50% เพื่อให้ระบบออโต้โฟกัสทำงาน ตรวจหาและติดตามวัตถุ แล้วกดชัตเตอร์ 100% เพื่อถ่ายภาพ ก็ได้ภาพตามต้องการ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการควบคุมการโฟกัสวัตถุที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย

ระบบลดการสั่นแบบ 5 แกน ในตัวกล้อง

Canon EOS R3 ติดตั้งระบบลดการสั่นไว้ในกล้องให้พร้อมใช้งานในตัวกล้อง เป็นแบบ 5 แกน แบบเดียวกับ EOS R5 และ EOS R6 ป้องกันภาพสั่นไหวได้สูงสุด 8 สต็อป ขึ้นอยู่กับเลนส์ที่ใช้งานทั้งที่มี และไม่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหวในเลนส์ สำหรับการถ่ายภาพ

ช่องมองภาพขนาดใหญ่ ความละเอียด 5.76 ล้านจุด แสดงภาพได้ 120 ภาพต่อวินาที แบบ Blackout Free และจอแสดงภาพหลังกล้องขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 4.15 ล้านจุด สามารถพับปรับเปลี่ยนองศาได้ พร้อมระบบ Touch Screen

ระบบถ่ายภาพวิดีโอ บันทึกภาพที่ 6K RAW 60p 12 bit และ 4K 120p 10 bit พร้อมด้วย Canon Log 3

ช่องใส่การ์ด Dual Card Slot 2 ช่อง สำหรับการ์ด CF express และ การ์ด UHS-II SD

ช่อง Multi-Function Hot Shoe เพื่อติดตั้งอุปกรณ์เสริมนอกเหนือจากแฟลช เช่น ไมโครโฟนดิจิตอล หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อ Smartphone

ติดตั้งระบบ Wi-Fi, Bluetooth และ GPS พร้อมใช้งาน

ใช้งานสะดวกมากขึ้นด้วย ปุ่ม Joy Stick หรือ ปุ่ม Multi-Controllers และ ปุ่ม Smart Controllers หรือ ปุ่ม AF-On ที่เป็น Touch Pad เลื่อนจุดโฟกัสได้อย่างรวดเร็วด้วยตนเอง

โครงสร้างกล้องเป็น Magnesium Alloy พร้อมด้วยระบบ Seal กันละอองน้ำและฝุ่น สมรรถนะระดับเดียวกับกล้อง Canon EOS 1DX series

ทดสอบใช้งาน

สัมผัสแรกกับ Canon EOS R3

สัมผัสกับกล้อง Canon EOS R3 สิ่งแรกเลยก็คือ น้ำหนักที่เบามากขนาด 1,015 กรัม ซึ่งถ้าเทียบกับ Canon EOS 1DX III ที่หนัก 1,440 กรัมแล้ว ก็เบากว่ากันเกือบครึ่งกิโลกรัมเลยทีเดียว

รูปลักษณ์คล้ายคลึงกับ Canon EOS 1DX III แต่ขนาดเล็กกว่ากันมาก แต่มีความบึกบึนเหมือนกัน ทนทานต่อการใช้งานหนักได้ดี กริปขนาดเหมาะมือหยิบจับกระชับแน่นมือ วัสดุยางหุ้มกล้องมีเท็กซ์เจอร์ที่จับติดมือได้เหนียวแน่นดีมาก

การออกแบบจัดวางปุ่มบังคับต่างๆ คุ้นมือคล้ายกับ Canon EOS 1DX mark III ปุ่ม Smart Controllers และ Joy stick หรือ ปุ่ม Multi-Controllers อยู่ในตำแหน่งที่ควบคุมได้สะดวกด้วยนิ้วหัวแม่มือ ใช้งานได้ลื่นไหลง่ายต่อการควบคุมพื้นที่โฟกัส หรือจุดโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว

ทดสอบระบบ Eye Control AF

ก่อนที่จะใช้ระบบ Eye Control AF ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในเรื่องของจุดเด่นของกล้อง Canon EOS R3 สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ การเปิดระบบใช้งาน และการ Calibrate สายตาของผู้ใช้กล้องกับกล้องถ่ายภาพ บันทึกไว้ในกล้อง ซึ่งกล้องสามารถบันทึกสายตาของผู้ใช้ได้ถึง 6 คน

การตั้งค่าทำได้ด้วยการเปิด Menu เลือกไปที่ไอคอนกุญแจ แล้วเลือกเมนูหมายเลข 4 จะเห็นแถบเมนู Eye Control ซึ่ง off อยู่ กดเข้าเมนูจะปรากฏเมนูย่อย

เมนูแรก Eye Control เปลี่ยนจาก Off เป็น On เป็นการเปิดระบบให้ทำงาน

เมนูที่สองเป็นการบันทึกการ Calibrate สายตาของผู้ใช้กล้อง ซึ่งบันทึกได้ 6 คน

เมนูที่สามเป็นการ Calibrate สายตาให้กล้องรับรู้บันทึกไว้ กดเข้าไปทำการ Calibrate จะมีเมนูย่อย เลือกที่ Start จะปรากฏข้อความ “ให้มองผ่านวิวไฟน์เดอร์” แล้วกดปุ่ม M-Fn ใกล้ปุ่มชัตเตอร์ ในขั้นตอนนี้จะปรากฏวงกลมเล็กๆ ขึ้นที่กลางช่องมองภาพ กดปุ่ม M-Fn ค้างไว้ วงกลมจะบีบเล็กลงจนเป็นจุด จากนั้นวงกลมจะปรากฏที่ตำแหน่ง บน ล่าง ซ้าย ขวา ตามลำดับ แต่ละตำแหน่ง ให้กดปุ่ม M-Fn ค้างไว้จนวงกลมบีบเป็นจุดเช่นเดียวกับครั้งแรก เป็นอันเสร็จการ Calibrate

ในเมนูหัวข้อ “Save/load (card) กล้อง EOS R3 สามารถ Save การ Calibration ดวงตา ใส่ในแม็มโมรี่การ์ด และสามารถ Save ดวงตาได้ไม่จำกัดเพียงแค่เปลี่ยนชื่อที่ใช้ในการ Save เพื่อนำไป load ใช้กับกล้อง EOS R3 ตัวอื่น หรือตัวเดิม แต่ต้องการเปลี่ยนคนใช้งาน

เมนูที่สี่ เป็นเมนูสำหรับการตั้ง Sensitivity สีและขนาดของวงกลมสำหรับการตรวจจับ

เมื่อเปิดระบบกล้องก็พร้อมใช้งาน เพียงแต่แนบตาเข้ากับช่องมองภาพ มองไปยังวัตถุที่ต้องการจะปรากฏวงกลมเล็กๆ วิ่งไปตามสายตาเพียงกดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่ง กล้องก็โฟกัสทันที ถ้าสายตาเปลี่ยนตำแหน่งวัตถุวงกลมก็จะเปลี่ยนตำแหน่งตาม แต่โฟกัสยังอยู่ที่เดิม โฟกัสจะเปลี่ยนตามสายตาก็ต่อเมื่อยืนยันด้วยการกดแตะชัตเตอร์ใหม่

ผลการทดสอบ

จากการได้ใช้งานกับระบบ Eye Control AF พบว่าให้ความสะดวกในการโฟกัสภาพได้รวดเร็ว ซึ่งถ้าเราปิดระบบนี้ การเลื่อนจุดโฟกัส หรือพื้นที่โฟกัส จะต้องทำโดยการเลื่อนจากปุ่ม Joy stick หรือ ปุ่ม Smart Controller ด้วยนิ้วหัวแม่มือแทน แต่ถ้าเปิดระบบ Eye Control AF เพียงแต่มองที่วัตถุ แตะชัตเตอร์ กล้องก็โฟกัสเข้าที่วัตถุทันทีให้ความสะดวกและรวดเร็วดีมาก

จาการทดสอบยังพบอีกว่าระบบ Eye Control AF ยังให้ความสะดวกและรวดเร็วในการเลือกโฟกัสวัตถุ ในกรณีที่มีวัตถุหลายอย่างอยู่ในเฟรมเดียวกัน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพกีฬา เช่น การแข่งรถมีรถหลายคัน ฟุตบอลมีผู้เล่นหลายคน หรือ แม้แต่การถ่ายภาพนก เพียงแต่มองจุดที่เป็นเป้าหมายเท่านั้น Eye Control AF จะทำการวิ่งเข้าหาจุดที่เรามอง แตะชัตเตอร์โฟกัสทันทีรวดเร็วทันใจเลยทีเดียว

ทดสอบระบบ Autofocus

ระบบ Autofocus ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของกล้องถ่ายภาพในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกล้องระดับมืออาชีพ นอกเหนือจาก Eye Control AF แล้ว Canon EOS R3 ยังได้พัฒนาระบบ autofocus ให้ก้าวล้ำในการตรวจจับโฟกัสติดตามวัตถุในรูปแบบต่างๆ สามารถคำนวณ และติดตามการโฟกัสอัตโนมัติได้สูงสุดถึง 60 เฟรมต่อวินาที ด้วยการประมวลผลอย่างรวดเร็วแม่นยำของ DIGIC X ซึ่งเหนือกว่า Canon EOS 1DX mark III ช่วยให้การโฟกัสติดตามวัตถุที่มีการเลี้ยวหรือเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็วมีความแม่นยำมากขึ้น

แน่นอนละครับ การใช้งานระบบ Autofocus ของกล้องให้ได้เต็มประสิทธิภาพ ก็ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับตั้งระบบของกล้อง

ระบบ Autofocus หรือ ระบบ AF ของ Canon EOS R3 อยู่ในหมวดเมนู AF ที่มีเมนูย่อยสำหรับการปรับตั้ง ปกติส่วนปรับตั้งหลายอย่างที่มีอยู่ใน Canon EOS R3 ก็มีใช้งานอยู่บ้างแล้วในกล้อง D-SLR ของ Canon รวมทั้งใน EOS R5 และ EOS R6 แต่ก็ยังพบว่ามีหลายท่านที่ยังไม่เคยเข้าไปปรับตั้งใช้งานเลยก็มี

จากการได้ทดสอบการใช้งาน ผมก็ขอแนะนำให้ท่านทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับตั้งค่าให้ชัดเจน ปรับตั้งใช้งาน แล้วท่านจะพบว่า ท่านจะสามารถถ่ายภาพในระบบ AF ได้เต็มประสิทธิภาพ ได้ภาพอย่างที่ท่านต้องการเลยทีเดียว ซึ่งเบื้องต้น ผมขอแนะนำเรื่อง เมนูในหมวด AF เพิ่มเติมสักนิด สำหรับท่านที่ยังไม่เคยเข้าไปปรับตั้งใช้งานนี้

AF operation Sub

เมนูนี้ เมื่อกดเข้าไปจะมี Sub เมนูให้เลือกเป็น ONE SHOT กับ SERVO ถ้าตั้งเป็น ONE SHOT ระบบ AF จะทำการโฟกัสครั้งเดียวเมื่อมีการกดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งหรือกดชัตเตอร์เลย เหมาะสำหรับการถ่ายสิ่งที่อยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว แต่ถ้าเป็น SERVO เมื่อมีการกดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งค้างไว้ ระบบ AF จะทำการโฟกัสต่อเนื่องตลอดเวลาที่กดชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งค้างไว้ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนที่ หรือเคลื่อนไหว

AF area Sub

เมนูนี้ เป็นการเลือก พื้นที่โฟกัส ซึ่งมีให้เลือกถึง 8 รูปแบบ เช่น Spot AF, 1-point AF หรือ แบบ Flexible Zone ให้ผู้ใช้งานปรับตั้งขนาดโซนได้เองถึง 3 แบบ เป็นต้น

Subject tracking Sub

เมนูนี้เป็นการตั้งระบบโฟกัสติดตามวัตถุ ใช้ร่วมกับระบบ SERVO ถ้าตั้ง OFF คือ ปิดการโฟกัสติดตามวัตถุ แต่ถ้าต้องการถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนที่เคลื่อนไหว ควรเปิดเป็น ON ระบบโฟกัสจะโฟกัสติดตามวัตถุได้ทันทีแม้วัตถุจะเคลื่อนที่

Subject to detect

เป็น Sub เมนู สำหรับเลือกชนิดของวัตถุที่จะโฟกัส มีให้เลือก 4 แบบ คือ People (คน), Animal (สัตว์), Vehicles (ยานพาหนะ) และ None

Eye detection

เป็น Sub เมนูสำหรับตั้งให้โฟกัสที่ดวงตาถ้าเจอดวงตาเปิดใช้ให้โฟกัสเข้าที่ดวงตา

Servo AF

เป็นอีกเมนูหนึ่งที่ควรทำความรู้จัก อยู่ในกลุ่ม เมนู AF หมายเลข 2 เป็นเมนูสำหรับถ่ายภาพโฟกัสติดตามวัตถุที่มีการเคลื่อนที่ต่างๆ มีรูปแบบของการเคลื่อนที่ให้เลือก 5 รูปแบบ

จากการทดสอบถ่ายครั้งนี้ ได้ปรับตั้งระบบโฟกัสใช้งาน ตั้งแต่ ระบบ SERVO ส่วน AF Area ใช้เป็น Flexible Zone ได้ลองใช้ทั้งแบบที่ 1 พื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัส แบบที่ 2 เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง และแบบที่ 3 สี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน เปิดระบบ Tracking เปิดระบบ Eye Detection

การถ่ายภาพทดสอบเลือการถ่ายภาพวัตถุที่มีการเคลื่อนที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ นกบิน การเล่นสเก็ตบอร์ด เจทสกีร์ และ Speed Boat

ผลการทดสอบ

เรียนทุกท่านไว้ก่อนว่า การถ่ายภาพทดสอบครั้งนี้ผม และสมโภช แตงไทย ได้ร่วมกันถ่ายภาพทดสอบ ด้วยกล้อง Canon EOS R3 ใช้เลนส์ Canon RF 600 mm. F4 L IS USM และ RF 100-500 mm F 4.5-7.1 L IS USM

จากการใช้งานกับกล้องรุ่นนี้ พบว่า ระบบโฟกัสทำงานได้รวดเร็วแม่นยำดีมาก ด้วยประสิทธิภาพของอัลกอริธึมระบบ AF ที่พัฒนาใหม่เป็น Autofocus EOS iTR ในการตรวจจับแบบอัจฉริยะ ก็คือ

ถ้าตั้งเป็น People จะเลือกการตรวจจับโฟกัสตั้งแต่ ดวงตา ถ้าไม่เจอจะหาใบหน้า ถ้าไม่เจอจะหาส่วนศีรษะ ถ้ายังไม่เจอก็จะหาส่วนของร่างกาย

ถ้าตั้งเป็น Animal จะเลือกการจับโฟกัสตั้งแต่ ดวงตา ถ้าไม่เจอจะเลือกโฟกัสส่วนหัว แต่ถ้าไม่เจออีก จะเลือกโฟกัสส่วนลำตัว

เช่นเดียวกันถ้าตั้งเป็น Vehicles จะเลือกตรวจจับยานพาหนะ มีล้อ ไม่มีล้อ เป็น 2 ล้อ หรือ 4 ล้อ ทั้งยังสามารถตรวจจับหมวกกันน็อคได้อีกด้วย

พูดอย่างนี้ก็ดูกล้องจะฉลาดจัง เรามาพิจารณาจากภาพเป็นเรื่องๆ ดังนี้

ในกรณีตั้งถ่ายภาพเป็น People ถ่ายภาพการเล่นสเก็ตบอร์ด ถ่ายภาพที่ ความไวชัตเตอร์ 1/80 วินาที F4. ระบบโฟกัสทำงานได้รวดเร็วมาก โฟกัสติดตามวัตถุเกาะติดได้แม่นยำดีมากแม้การเคลื่อนที่จะรวดเร็วและใช้ความไวชัตเตอร์เพียง 1/80 วินาที ทั้งนี้เพื่อให้ภาพมีความรู้สึกถึง Movement แต่ส่วนชัดในภาพก็ยังคมชัดดี

ในกรณีที่ตั้งถ่ายภาพเป็น Animal เราได้เลือกการถ่ายภาพนกที่กำลังฮิตกันอยู่ในเวลานี้ และเลือกการถ่ายภาพนกบินในลักษณะต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าระบบโฟกัสของกล้องจะช่วยให้มีโอกาสได้ภาพมากขึ้น ในการใช้งานพบว่า ระบบ Flexible Zone area โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบที่ 3 ที่เป็นพื้นที่ยาวแนวนอน เมื่อประกอบเข้ากับระบบ Eye Control AF เพียงมองที่นก ระบบ Zone จะเข้าจับโฟกัสที่นกได้อย่างรวดเร็วแล้วโฟกัสติดตามนกได้ตลอดเวลา ทำให้การถ่ายภาพนกบินง่ายกว่าที่คิด ประกอบกับการเปิดระบบ Eye Detection ด้วยแล้ว ภาพที่ได้ตานกได้คมชัดดีมากเลย

ในกรณีที่ตั้งการถ่ายภาพเป็น Vehicle หรือ ยานพาหนะ อยากบอกเลยว่า ง่ายมากสำหรับ Canon EOS R3 ทดสอบกล้องถ้าปรับตั้งระบบการทำงานไว้ให้เหมาะกับการถ่ายภาพ ที่เหลือก็เพียงแต่มอง แตะชัตเตอร์โฟกัสจะจับและเกาะติดให้กดชัตเตอร์ได้ทันที

อยากจะบอกว่า ปรับตั้งค่าการใช้งานในกล้องให้เหมาะกับงาน เล็งมองวัตถุที่จะถ่าย กดชัตเตอร์ ที่เหลือระบบโฟกัสกล้องช่วยให้ทันทีเลยครับ

ถ่ายภาพต่อเนื่อง 30 ภาพต่อวินาที

Canon EOS R3 สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ด้วยความเร็วสูงสุด 30 ภาพต่อวินาที ไม่มี Black out ในช่องมองภาพ เมื่อใช้ระบบ Electronic shutter จากการทดสอบถ่ายภาพ พบว่าถ่ายภาพได้ 30 ภาพต่อวินาที ภาพถ่ายต่อเนื่องมีความคมชัดดีทั้งหมด

สำหรับการถ่ายภาพต่อเนื่อง Buffer ของกล้องรุ่นนี้เมื่อใช้การ์ด แบบ SDXC พบว่าสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ประมาณ 120-130 ภาพจึงสะดุด แต่ถ้าใช้การ์ด CF Express (Type B) จะสามารถถ่ายภาพ่อเนื่องได้มากกว่านี้ครับ

ทดสอบ ISO สูง และการโฟกัสในสภาพแสงน้อย

จุดเด่นของกล้อง Canon EOS R3 รุ่นนี้ก็คือ สามารถตั้งความไวแสงในการถ่ายภาพได้สูงสุดถึง 102400 และสามารถโฟกัสในสภาพแสงน้อยถึง -7.5 EV ซึ่งสภาพแสงขนาดนี้ต้องบอกว่ามืดแล้วครับ ซึ่งโดยปกติทั่วไประบบ AF ของกล้องจะไม่ทำงานแล้ว

การทดสอบรอบนี้ผมเลยขอโยงเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งก็สามารถทดสอบได้ระดับหนึ่ง ขออธิบายด้วยภาพ 2 ภาพ ภาพหนึ่งเป็นภาพเรือ Speed Boat อีกภาพหนึ่งเป็นนกกระยาง

ภาพเรือ Speed Boat ถ่ายตอนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้วทั่วบริเวณเริ่มมืดแล้ว ซึ่งในสภาพแสงแบบนี้ปกติก็จะถ่ายภาพนี้ไม่ได้ กล้องไม่โฟกัส ยิ่งอยู่ในเรือที่กำลังแล่นอยู่ด้วยแล้วก็เลิกคิดได้เลย แต่ปรากฏว่า Canon EOS R3 ถ่ายได้ครับ โฟกัสเข้าชัดเป๊ะซะด้วย ขนาด ISO 25600 ครับ (ยังลองไม่ถึง 102400 ครับ) เรื่อง Noise มีครับ ผมได้ลงภาพเปรียบเทียบกับภาพต้นฉบับ กับ ภาพเมื่อลด Noise ไว้ให้ดูเทียบเลยภาพใช้ได้เลยครับ

ภาพถ่ายที่ ISO 25600

ภาพถ่ายที่ ISO 25600 (ภาพเมื่อลด Noise)

อีกภาพหนึ่งคือภาพนกกระยาง อยู่ในส่วนมืดของพุ่มไม้ ปกติถ้าภาพแสงแบบนี้กล้องส่วนใหญ่ก็จะไม่โฟกัส ถ่ายได้ครับ โฟกัสชัดเป๊ะเช่นกัน ISO 12800 ครับ

Canon EOS R3 ทำให้การถ่ายภาพในสภาพแสงจำกัด สามารถถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นทันที

ภาพถ่ายที่ ISO 12800

ภาพถ่ายที่ ISO 12800 (ภาพเมื่อลด Noise)

ภาพเมื่อปรับลด Noise และขยายภาพดูโฟกัสชัด

คุณภาพของภาพถ่าย

ทำการพิจารณาภาพถ่าย ที่ถ่ายจากกล้อง Canon EOS R3 เมื่อนำภาพมาพิจารณาจะพบว่า

ในเรื่องของความคมชัด จะพบว่า ภาพถ่ายเกือบทั้งหมด มีความคมชัดดี นั้นคือ ประสิทธิภาพของระบบ AF ที่ทำงานได้แม่นยำดีมาก สำหรับวัตถุที่หยุดอยู่นิ่งบอกได้เลยว่าสบายมาก แต่สำหรับวัตถุที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น การบินของนก หรือ การถ่ายภาพยานพาหนะ การแข่งขั้นที่มีการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ภาพถ่ายที่ได้ก็สามารถได้ภาพที่คมชัด ด้วยระบบโฟกัสที่รวดเร็วแม่นยำ

ในเรื่องของการเก็บรายละเอียดในภาพถ่าย สำหรับกล้อง Canon EOS R3 ติดตั้งเซ็นเซอร์แบบ Full frame ที่มีความละเอียดที่ 24.1 ล้านพิกเซล พบว่าภาพถ่ายสามารถเก็บรายละเอียดในภาพถ่ายได้ดีมาก ทั้งในส่วนมืดและส่วนสว่าง มี Dynamic Range ที่กว้างทำให้สามารถควบคุมรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่างได้ดียิ่งขึ้น

ในเรื่องของสีสันของภาพถ่าย พบว่าภาพจาก Canon EOS R3 ให้สีสันที่สดใสสมจริง แทบไม่ต้องปรับเพิ่มแต่อย่างใดเมื่อควบคุมการถ่ายภาพได้แม่นยำถูกต้อง แม้แต่ในสภาพแสงที่ไม่อำนวยก็ยังพบว่า ภาพถ่ายยังคงให้สีสันที่สดใส

บทสรุป

แน่นอนครับ จุดเด่นต่างๆ ของ Canon EOS R3 ถ้านำมาบอกเล่ากันในที่นี้ก็คงต้องว่ากันอีกยาวเฟื้อย บทสรุปกว้างๆ สำหรับกล้องรุ่นนี้

กล้อง Canon EOS R3 จัดเป็นกล้องสมรรถนะสูงที่สุดในกลุ่มของกล้อง EOS R Serirs ที่เป็นกล้อง Mirror-less ของ Canon ในเวลานี้ ซึ่งถ้านำไปเปรียบเทียบกับกล้อง Canon EOS 1DX mark III ซึ่งเป็นกล้อง D-SLR รุ่นเรือธงในเวลานี้แล้ว ในความเห็นของผม คิดว่าไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเลย หรืออาจจะได้เปรียบอยู่ส่วนหนึ่งทีเดียว ด้วยขนาดกล้องที่เล็กกว่า น้ำหนักเบากว่า แต่ความแข็งแรงทนทานต่อการใช้งานหนักอยู่ในระดับเดียวกัน ติดตั้งเซ็นเซอร์ความละเอียดที่ 24.1 ล้านพิกเซล ก็มีความละเอียดที่สูงกว่า ระบบโฟกัสที่ก้าวหน้ากว่า ทำงานได้กว้างกว่า ถ่ายต่อเนื่องได้สูงกว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นจุดเด่นที่น่าใช้งานของ Canon EOS R3 ครับ.