เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 184/2013 January
ในงานสถาปัตยกรรมนั้น จะมีเหลี่ยมมุม ที่มีลักษณะเฉพาะอันเกิดจากโครงสร้าง หรือ รูปแบบต่างๆ ในตัวสถาปัตยกรรมนั้นๆ เอง ที่ล้วนมีความสวยงามน่าสนใจ ในช่วงเวลาต่างๆ ของวันที่แสงได้ตกกระทบ เหลี่ยมมุมเหล่านั้น มักจะปรากฏแสงเงาที่สวยงาม ให้เราได้ถ่ายภาพโดยอาศัยหลักการจัดองค์ประกอบเข้ามาช่วยจัดวางภาพให้ดูน่าสนใจ
แสงและเงา (Light & Shade) เป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน แสงเมื่อส่องกระทบกับวัตถุ จะทำให้เกิดเงา แสงและเงา เป็นตัวกำหนดระดับของค่าน้ำหนัก ความเข้มของเงาจะขึ้นอยู่กับความเข้มของแสง ในที่ๆ มีแสงสว่างมาก เงาจะเข้มขึ้น และในที่ที่มีแสงสว่างน้อย เงาจะไม่ชัดเจน ในที่ที่ไม่มีแสงสว่าง จะไม่มีเงา และเงาจะอยู่ในทางตรงข้ามกับแสงเสมอ ดังนั้น “One light one shadows มีหนึ่งแสงก็ต้องมีหนึ่งเงา”
ในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมนั้น เรามักจะเห็นภาพในมุมกว้าง ตัวสถาปัตยกรรมร่วมกับสภาพแวดล้อม ที่ถ่ายด้วย Wide-angle lens แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดทั้งหมดขององค์ประกอบโดยรวมในตัวสถาปัตยกรรมนั้นๆ แต่ยังมีภาพอีกแบบหนึ่งที่มุ่งเน้นแค่เพียงบางส่วน หรือส่วนหนึ่งส่วนใดเพียงส่วนเดียวจากภาพรวมทั้งหมดของตัวสถาปัตยกรรมนั้นๆ ภาพในแบบที่สองนี้แหละครับ ที่แสงเงาจะทำงานสัมพันธ์กันและทำให้เราได้ภาพที่น่าสนใจ
สิ่งสำคัญในการถ่ายภาพแสงเงาในงานสถาปัตยกรรมนั้นก็คือ ช่วงเวลา ในหนึ่งวันช่วงเวลาที่แตกต่างกันก็ให้ทิศทางแสง ลักษณะของแสง รวมทั้งน้ำหนักของแสงที่แตกต่างกันไปด้วย โดยทั่วไปแล้ว แสงที่เราใช้ถ่ายภาพ มักจะเป็นแสงที่มีทิศทางเฉียงทำมุมกับสิ่งที่เราจะถ่าย นั่นก็คือแสงในช่วงเวลาเช้า และเย็นนั่นเอง และเพราะเราไม่สามารถจะเคลื่อนย้ายงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้ การเลือกช่วงเวลาถ่ายภาพ และการเลือกมุมที่จะถ่ายภาพ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ในงานสถาปัตยกรรมไทย โครงสร้างตัวอาคารต่างๆ จะเต็มไปด้วย ลวดลาย เหลี่ยมมุม กระเบื้องเคลือบลายเขียนสี กระจกสี ลายกนก เสา ฯลฯ ต่างๆ ที่เมื่อเวลาต้องแสงแล้วเกิดเป็นแสงเงาที่งดงาม ไม่ต่างกันกับงานสถาปัตยกรรมทางตะวันตก ที่จะมีสัดส่วน และความโค้งมนของวัตถุต่างๆ ที่ทำให้เกิดแสงเงาที่สวยงามได้ไม่แพ้กัน ทั้งนี้เราจะเลือกใช้ (Visual Elements ทัศนธาตุ) มาช่วยเป็นหลักในการจัดองค์ประกอบภาพ ไม่ว่าจะเป็น เส้น รูปทรง พื้นผิว และพื้นที่ว่าง
เส้น (Line) ในงานสถาปัตยกรรมเราจะเห็นเส้นมากมาย เส้นโค้งที่อ่อนช้อยและนุ่มนวล เส้นตรงที่แลดูแข็งแรง เมื่อมีแสงเงาที่รับกันแล้วก็จะเกิดเป็นภาพที่สวยงามได้ เช่น เส้นโค้งที่อ่อนช้อยของ ช่อฟ้า หรือหัวเสาแบบโรมันเส้นตั้งของเสา เหลี่ยมมุมต่างๆ ฯลฯ
รูปทรง (form) รูปทรงต่างๆ ในงานสถาปัตยกรรม มักจะมีลักษณะที่เด่นชัดและผสมผสานกันจากหลายๆ วัตถุ ทิศทางแสงด้านข้าง จะช่วยเน้นรูปทรงของวัตถุให้เด่นชัดมากขึ้น
พื้นที่ว่าง (space) การเว้นที่ว่างในพื้นที่แต่ละส่วนในภาพ เพื่อทำให้ภาพไม่รู้สึกแน่น และอึดอัดจนเกินไป ที่ว่างนี้อาจจะเกิดจากจังหวะในตัวงานสถาปัตยกรรมเองก็ได้
จะเห็นได้ว่า ภาพแสงเงาจากในงานสถาปัตยกรรมนั้น เน้นที่การค้นหามุมมองที่น่าสนใจ โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่ตัวสถานที่ หรือภาพรวมของตัวสถาปัตยกรรมนั้นๆ มากมายนัก การเลือกถ่ายภาพเจาะในพื้นที่แต่ล่ะส่วน จึงต้องอาศัยการจัดองค์ประกอบภาพมาช่วยเป็นอย่างมาก และถ้าเราลองถ่ายภาพดูบ่อยๆ แล้ว จะยิ่งทำให้การจัดองค์ประกอบภาพของเราพัฒนามากยิ่งขึ้นตามไปด้วยครับ และนอกเหนือไปจากนี้ ก็คือเราได้ฝึกการมองหามุมที่มากกว่าหนึ่งในการถ่ายภาพแต่ละสถานที่ซึ่งไว้ผมจะหยิบเรื่องการหามุมภาพมากกว่าหนึ่งนี้มาคุยกันในตอนต่อไปครับ…