เรื่อง+ภาพ : poch
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 186/2013 March
ในยุคที่การถ่ายภาพระบบดิจิตอล เราเก็บภาพถ่ายของเราเอาไว้ในอุปกรณ์ที่เรียกว่า hard disk drive (HDD) ข้อมูลไฟล์ภาพหลายร้อยหลายหมื่นภาพ ความทรงจำต่างๆ มากมาย ถูกเก็บรวบรวมไว้ในอุปกรณ์สี่เหลี่ยมกะทัดรัดใบนี้ ที่ใช้งานง่ายสะดวกสบาย จนบางครั้งเราก็เผลอลืมไปว่า เรากำลังยืนอยู่บนความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
ความเสี่ยงที่ผมกำลังจะพูดถึงในครั้งนี้ก็คือ HDD ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ไม่แน่เมื่อวันดีคืนดี ข้อมูลที่อยู่ข้างในกลับหายไปดื้อๆ หรือไม่สามารถเปิดดูได้และนั่นจึงเป็นต้นเหตุของบทความในครั้งนี้ ที่ผมจะขอพูดถึงปัญหาต่างๆ ที่เราอาจจะต้องพบเจอ รวมทั้งจุดที่เราอาจจะมองข้ามไป ถือเสียว่าเป็นข้อเตือนใจ เพื่อความไม่ประมาทก็แล้วกันนะครับ เอาล่ะเราไปดูกันดีกว่าว่า เรามีโอกาสที่จะพบเจอปัญหาใดๆ บ้างที่จะเกิดขึ้นกับ HDD ของเราได้
โดนไวรัส
ไวรัส จัดว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจกับเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา ใครที่เคยโดนไวรัสเล่นงานมาก่อนนั้นจะรู้รสชาติดี ว่าจะต้องทำอย่างไร ไฟล์ภาพที่เปิดไม่ได้จากการที่ถูกไวรัสบางประเภทบดบังซ่อนเอาไว้ หรือขั้นเลวร้ายก็โดนทำลายไฟล์ข้อมูลไปเลยทีเดียวครับ
ในการจัดการกับไวรัสนั้น เราสามารถใช้ซอฟแวร์แอนตี้ไวรัสต่างๆ ในการจัดการ ซึ่งก็มีทั้งแบบที่ต้องเสียเงินซื้อมาใช้ และแบบที่เป็นให้โหลดมาใช้งานฟรีๆ แน่นอนว่าแบบที่เสียเงินต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ข้อสำคัญที่คนที่ติดตั้งโปรแกรมจัดการไวรัสจะหลงลืมไปก็คือ การอัพเดทซอฟแวร์อยู่สม่ำเสมอ และไม่เป็นผู้นำไวรัสเข้าสู่เครื่องฯ เสียเอง ด้วยการเข้าไปเวบไซด์ที่อันตราย หรือการเปิดไฟล์จาก USB flash drive โดยที่ยังไม่ได้สแกนไวรัสก่อน
โปรแกรมแอนตี้ไวรัส
เปิดไฟล์ภาพไม่ได้ / HDD ไม่ทำงาน
อาการนี้คงต้องบอกว่า น่าเป็นห่วงที่สุดเพราะโดยมากแล้ว มักจะเกิดแบบที่เราไม่ทันตั้งตัว ที่สำคัญผลของมันอาจจะพาไปสู่การสูญเสียที่ยากจะรับมือและทำใจได้ คิดดูง่ายๆ ถ้าวันหนึ่ง HDD ที่เคยเปิดดูภาพได้อยู่ดีกลับไม่มีภาพเหลืออยู่เลย หรือว่าตัว HDD เปิดไม่ได้ ไม่ขึ้น drive ไม่หมุน ฯลฯ อาการเหล่านี้แหละครับ ที่จะทำให้ไฟล์ภาพหายไป และโอกาสได้คืนมาก็อาจจะไม่ถึง 100%
การที่ HDD ของเราจะเป็นแบบนี้ได้นั้น ส่วนมากจะมีสาเหตุมาจากกำลังไฟที่ไม่เพียงพอ หรือมีการเกิดไฟกระชาก ไฟตก หรืออาจจะมาจากการที่สายเชื่อมต่อข้อมูลถูกดึงออกในระหว่างทำงาน หรือสาเหตุที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ ตัว HDD นั้นเสื่อมอายุการใช้งาน หรือชำรุดด้วยตัวของมันเอง (อันนี้นับว่าเลวร้ายสุดๆ)
ก่อนที่ HDD ของเราจะเกิดปัญหานั้น โดยมากจะมีจุดสังเกตอยู่บ้าง เช่น มีเสียงแปลกๆ เชื่อมต่อข้อมูลแล้วรู้สึกว่าช้าลง ฯลฯ อะไรที่ต่างไปจากเดิมนั่นแหละครับ ที่เป็นสัญญาณให้เรารีบสำรองข้อมูลออกมาก่อนโดยเร็วที่สุดก่อนที่เราจะไม่ได้เห็นมันอีกครั้งในเวลาต่อมา
ด้วยว่าเวลานี้กล้องดิจิตอลหลายรุ่นให้ไฟล์ภาพที่ใหญ่กว่าเดิมแบบก้าวกระโดด ทำให้การส่องผ่านข้อมูลนั้นต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หลายคนที่เครื่องคอมฯ ยังเป็นรุ่นเก่าอยู่นั้นก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิดในการเสียเวลาตรงนี้ และบางทีเครื่องก็มาค้าง เพราะกำลังประมวลผลด้วยซ้ำ ถ้าไม่รีบร้อนอะไรนักผมอยากจะบอกว่า ขอให้เรารอจนกว่าคอมฯ จะทำการประมวลผลเสร็จนะครับ ห้ามเด็ดขาดในการยกเลิก หรือกดปุ่มรีสตาร์ทเครื่องหรือกดปิดบ๊อก HDD โดยเด็ดขาด เพราะมีโอกาสที่ไฟล์ภาพจะหายไปได้ครับ
การสำรองข้อมูล
การสำรองข้อมูลเป็นวิธีที่ยอดนิยมที่สุดในการใช้งาน HDD โดยการที่เราจะมี HDD อีกลูก ในการสำรองข้อมูลเอาไว้ หรือแม้แต่การ ไรท์ลงแผ่นDVD ก็เป็นการสำรองข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เราเห็นใช้กันเยอะคือการสำรองข้อมูลไปเก็บไว้ใน HDD ที่เป็น External แยกเก็บต่างหาก แต่ในหลายครั้งเมื่อเรากลับมาเปิด External HDD นี้และพบว่าไฟล์ภาพเปิดไม่ได้บ้างหายไปบ้าง ไม่อ่านบ้าง ซึ่งสาเหตุก็คงมาจากอายุงานหรือบางครั้ง เราเคลื่อนย้ายตัว External HDD บ่อยๆ อาจเกิดการกระแทกเล็กน้อยที่ส่งผลก็เป็นได้และสภาพอากาศบ้านเราบางครั้งชื้นก็อาจจะทำให้เป็นสนิมได้เช่นกัน ในการสำรองข้อมูลจึงมักจะทำมากกว่า 1 บางคนสำรองไว้ 3 ที่ด้วยกันก็มี
ที่น่าสนใจคือช่วงเวลาในการสำรองข้อมูล บางครั้งเราไม่ได้สำรองข้อมูลในทันทีบ้างหรือเราลืมเผลอไปบ้าง ข้อมูลที่ยังไม่สำรองสูญหายไปได้ในระหว่างนี้ก็เคยมีกันมาแล้ว ในปัจจุบันมีระบบหนึ่งที่น่าสนใจคือระบบ RAID ระบบ RAID ย่อมาจากคำว่า Redundant Array of Independent Disks ที่จะใช้ HDD 2 ลูก ยี่ห้อเดียวกันขนาดเท่ากัน เหมือนๆ กัน มาใช้งานร่วมกัน โดยอีกตัวหนึ่งทำหน้าที่ในการสำรองข้อมูล ซึ่งจะสำรองข้อมูลอัตโนมัติทันทีที่เราเพิ่มข้อมูลลงใน HDD ตัวแรกซึ่งจะสะดวกสบายและค่อนข้างปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูลจึงนิยมกันมากในระบบ Server
ระบบ RAID
การกู้ข้อมูล
เมื่อ HDD ของเราเกิดปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว แน่นอนครับสิ่งที่เราจะต้องทำก็คือการกู้ข้อมูลเหล่านั้นกลับคืนมา ในการกู้ไฟล์นั้นเราแบ่งได้ 2 แบบก็คือ การกู้ข้อมูลด้วยตัวเองจากซอฟแวร์ และการกู้ข้อมูลโดยส่งเข้าศูนย์กู้ข้อมูลโดยตรง
ในการกู้ข้อมูลด้วยตัวเองจากซอฟแวร์สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องไม่ทำการถอดแกะงัดแงะ หรือ การใช้ซอฟแวร์ที่ไม่น่าจะปลอดภัย ไม่มีใครแนะนำ เพราะจะเป็นการเสี่ยงให้เกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้นได้ ถ้าเราลองใช้ซอฟแวร์ที่ได้รับการแนะนำมาว่าใช้งานได้จริง ได้ผลในการกู้ข้อมูล ถึงจะลงมือทำการกู้ได้ ซึ่งก็ควรเผื่อใจไว้ว่าอาจจะทำการกู้ข้อมูลมาได้ไม่ครบ 100% แต่ถ้าเราทำการกู้ข้อมูลแล้วยังไม่ได้ ก็คงต้องถึงเวลาที่จะส่งต่อให้ศูนย์กู้ข้อมูลที่รับงานด้านนี้โดยเฉพาะ
โปรแกรมกู้ข้อมูล recovery
การส่ง HDD ไปที่ศูนย์กู้ข้อมูล ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการกู้ข้อมูลตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ซึ่งตามขนาดและอาการที่เสียหายของ HDDแต่ล่ะตัว นั่นหมายความว่าไฟล์ภาพที่เราต้องการจะกู้ข้อมูลนั้นมีความสำคัญและเร่งด่วนในการใช้งานมากและโดยมาก การส่งเข้าศูนย์กู้ข้อมูลก็จะมีเปอร์เซ็นต์ของการได้ข้อมูลกลับคืนมาสูงทีเดียว นอกจากนี้ บางศูนย์กู้ข้อมูลจะมีการทำประกันการกู้ข้อมูลใน HDD แต่ล่ะลูกที่ยังไม่เกิดความเสียหายด้วย ตรงจุดนี้ผมว่าก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะเราเองก็ไม่มั่นใจว่าวันหนึ่งข้างหน้า HDD ของเราจะเป็นอย่างไรบ้าง ในการทำประกันข้อมูลก็จะตกลงกันเป็นรายปีราย 2 ปี 3 ปี ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการนำ HDD ที่เสียหายไปทำการกู้ข้อมูลหลายเท่านัก
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ก็คือปัญหาที่เราทุกคนจะต้องเจอในการใช้งาน hard disk drive เก็บบันทึกไฟล์ภาพของเรา ในยุคที่เราไม่สามารถจับต้องภาพถ่ายของเราได้แบบในยุคฟิล์ม เราก็ควรจะมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิด คิดเสียว่าเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ที่เจอมาก็แล้วกันนะครับส่วนจะใช้ HDD ยี่ห้อไหนดี ใช้ซอฟแวร์กู้ข้อมูลตัวไหนใช้ศูนย์กู้ข้อมูลที่ไหน ผมว่าในปัจจุบันนี้ข้อมูลมีให้ตัดสินใจอยู่เต็มอินเตอร์เน็ตเลยครับ แต่ผมว่ามันคงไม่สำคัญเท่ากับการที่เราไม่มองข้ามกระบวนการที่จะเกิดขึ้นรวมไปถึงแนวทางการป้องกันมากกว่าใช่ไหมครับ
และจนเดี๋ยวนี้ ภาพบางภาพที่ผมชอบผมก็มักจะอัดขยายออกมาดูและเก็บไว้เสมอไม่ใช่เพราะกลัวว่าไฟล์ภาพจะสูญหายอะไรหรอกครับเพียงแต่รู้สึกว่าการดูภาพที่อัดขยายออกมานั้น มันได้อารมณ์กว่าการดูจากหน้าจอคอมฯ แม้ว่าเราจะปรับสีจอหรือใช้จอคุณภาพดีแค่ไหนก็ตามทีคุณว่าจริงไหมล่ะครับ…