เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 188/2013 May
ในภาพถ่ายหนึ่งภาพ จะประกอบไปด้วยสีที่หลากหลาย สีของวัตถุหลายชนิด หลายรูปแบบ ที่ปรากฏให้เราเห็นในภาพนั้น จะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของภาพ ศิลปินนักถ่ายภาพส่วนใหญ่ จะให้ความสำคัญต่อทุกๆ สีที่จะไปปรากฏในภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งโดยปกติแล้ว จะพยายามควบคุมโทนสีในภาพให้เป็นไปตามที่ต้องการ เพื่อให้ได้อารมณ์และความรู้สึกที่ชัดเจน
โทนสีนั้นมีส่วนสำคัญต่ออารมณ์และความรู้สึก ในทางศิลปะแบ่งโทนสีไว้สองกลุ่มคือ โทนสีร้อน (warm tone) และโทนสีเย็น (cool tone) Warm tone color หรือสีในโทนร้อนนั้น จะให้ความรู้สึกในเรื่องของ ความอบอุ่น ความรุนแรง ความเข้มแข็ง ซึ่งประกอบไปด้วย สีในเฉดของ เหลือง ส้ม แดง และม่วง Cool tone color หรือโทนสีเย็นนั้น จะให้ความรู้สึกทางด้าน ความสงบ เยือกเย็น สดชื่น ลึกลับ ประกอบไปด้วยสีในเฉด ม่วง น้ำเงิน ฟ้า เขียว และเหลือง จะเห็นว่า สีเหลืองและม่วงนั้นจะอยู่ได้ทั้งสองโทน นั่นก็ขึ้นอยู่ว่าสีสองสีนี้จะอยู่ร่วมกับสีในโทนใด ก็จะสามารถรับอิทธิพลจากสีโทนนั้นและร่วมแสดงอารมณ์ไปในทางโทนสีนั้นได้ ซึ่งจะเป็นไปตามจิตวิทยาของสี
จิตวิทยาของสีนั้นโดยปกติแล้วจะเป็นเรื่องของการที่สีแต่ล่ะสีให้อารมณ์และความรู้สึกอย่างไรต่อผู้ดู อย่างสีดำหรือสีขาว เป็นคู่สีที่ตัดกัน สีขาวจะให้ความรู้สึก บริสุทธิ์ สว่าง ส่วนสีดำจะให้ผลตรงข้ามคือ ความน่ากลัว ลึกลับ มืด อย่างสีในโทนร้อนเช่น สีแดงก็จะให้ความรู้สึกในเรื่องของความร้อนแรง ตื่นเต้น เป็นสีที่เร้าใจและกระตุ้นให้ความรู้สึกน่าสนใจมากกว่าสีอื่น เพราะถูกแทนในเรื่องของ ดวงอาทิตย์ และไฟ สีส้ม ก็จะคล้ายกับสีแดงแต่จะนุ่มนวลกว่า จึงให้ความรู้สึกถึง พลังความสดใส ส่วนสีเหลืองก็จะลดลงมาเพราะเป็นสีที่อยู่ได้ทั้งโทนร้อนและเย็น ก็จะให้ความรู้สึกร่าเริง และสีในโทนเย็นก็เช่นกัน สีน้ำเงิน ให้ความรู้สึกสุขุมเรียบง่าย หนักแน่น และเป็นสีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับท้องฟ้าและทะเล สีเขียว ก็จะให้ความรู้สึกสดชื่น เป็นตัวแทนของธรรมชาติ ป่าไม้ ใบหญ้า และสีม่วง ก็จะให้ความรู้สึกลึกลับ สงบแบบสีน้ำเงิน แต่ก็มีความตื่นเต้น ร้อนแรงของสีแดงเข้ามาด้วย
ด้วยว่าภาพถ่ายนั้นแตกต่างจากภาพวาด ที่เราไม่สามารถจะเลือกใส่สีอะไรลงไปในวัตถุที่อยู่ในภาพได้อย่างอิสระนัก สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือ ในขั้นตอนการถ่าย ซึ่งจะเป็นการเลือกวางองค์ประกอบภาพ การเลือกช่วงเวลา หรือการเลือกปรับค่า WB และในขั้นตอนของการปรับแก้ไขภาพด้วยซอฟแวร์ ซึ่งความอิสระจะมากขึ้นจากขั้นตอนนี้ สองขั้นตอนนี้ คือวิธีการที่เราใช้ในการควบคุมโทนสีเพื่อสร้างสรรค์อารมณ์ในภาพได้
การวางองค์ประกอบภาพ (Composition)
ซึ่งตามหลักการจัดองค์ประกอบภาพแล้ว สี ก็จัดเป็นหนึ่งในทัศนธาตุ ที่เรานำมาใช้ช่วยในการจัดองค์ประกอบอยู่แล้ว เช่นการใช้ความกลมกลืน ความขัดแย้งหรือตัดกันของสีการวางองค์ประกอบของภาพนั้น เราสามารถเลือกที่จะให้มีสีใดอยู่ในภาพได้ จากการที่เราเลือกวัตถุหลัก หรือแบบที่เราจะถ่าย การแต่งกาย เสื้อผ้า การแต่งหน้า รวมทั้งอากัปกิริยาท่าทาง สีหน้าแววตา เราสามารถเลือกฉากหลัง ให้มีความสัมพันธ์กัน หรือจะให้มีสีที่ตัดกันได้ ทั้งหมดนี้จะส่งผลไปถึงอารมณ์และบรรยากาศในภาพได้
การใช้สีที่ตัดกันนี้ ความสมดุลของสีทั้งสองจะเป็นตัวกำหนดความรู้สึก โดยมากสีที่ตัดกันได้ชัดเจนและเห็นผลดีที่สุดจะเป็นสีคู่ตรงข้ามกัน ในจำนวนสีที่มีทั้งหมดนั้น ยกเว้นสีขาวแล้ว สีเหลืองจะมีความสว่างมากที่สุด รองลงมาคือสีส้ม ส่วนสีแดงและสีเขียวนั้น จะมีความสว่างใกล้เคียงกัน และสุดท้ายสีม่วงและสีน้ำเงิน
ในคู่สีคู่ตรงข้ามกันนั้นทั้ง 3 คู่คือ สีเขียวกับสีแดง, สีส้มกับสีน้ำเงิน และสีเหลืองกับม่วง ความกว้างของคู่สีตรงข้ามแต่ล่ะคู่ จะมีผลต่อความสมดุลในภาพด้วย ซึ่งการรักษาสมดุลนี้ ในคู่แรกสีแดงกับสีเขียว เป็นคู่สีที่มีความสว่างใกล้เคียงกัน สัดส่วนของพื้นที่ในภาพจึงสามารถให้เป็น 1:1 ได้ ส่วนคู่ที่สอง สีส้มกับสีน้ำเงิน เป็นคู่สีคู่ตรงข้ามที่มีความสว่างต่างกัน สีส้มมีความสว่างมากกว่าสีน้ำเงินประมาณ 2 เท่า สัดส่วนของสีในภาพที่ได้สมดุลจึงอยู่ที่ 1:2 และคู่สุดท้าย สีเหลืองกับสีม่วง จัดเป็นคู่สีคู่ตรงข้ามที่มีความแตกต่างของความสว่างมากที่สุด คือสีเหลืองสว่างกว่าสีม่วงประมาณ 3 เท่า ความสมดุลจึงอยู่ที่สัดส่วน 1:3 สำหรับในสีเฉดอื่นๆ เราจะใช้ค่าจากสีหลัก 3 คู่นี้เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบความใกล้เคียง และลดหลั่นอัตราส่วนของพื้นที่กันไป
ในส่วนของการวางองค์ประกอบภาพนี้เลนส์ที่เราเลือกใช้ก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ภาพบางภาพ อารมณ์และโทนสีจะเปลี่ยนเมื่อเราซูมเลนส์ หรือเปลี่ยนระยะของเลนส์เพื่อจัดวางองค์ประกอบภาพใหม่ ดังนั้นในบางครั้ง เราอาจจะลองเปลี่ยนช่วงเลนส์ที่ใช้ดูบ้างก็ได้นะครับ
การเลือกช่วงเวลา (Select a time)
การเลือกช่วงเวลา เราสามารถกำหนดสีสันของฉากหลังที่เป็นท้องฟ้า รวมทั้งสีของแสงที่ตกลงบนแบบ หรือวัตถุที่เราจะถ่ายได้ จากการเลือกช่วงเวลาในการถ่ายภาพ ซึ่งถ้าเราสังเกตดีๆ ก็จะพบว่า ในหนึ่งวันนั้น เรามีแสงสีที่แตกต่างกันไปตามช่วงเวลา นับกันตั้งแต่ช่วงเวลาเช้า ที่แสงจากดวงอาทิตย์จะเป็นสีเหลืองทอง หรือสีส้ม วัตถุต่างๆ ที่ถูกแสงในช่วงเวลานี้ตกกระทบ จะได้รับอิทธิพลของโทนสีร้อน (Warm tone) ทำให้ภาพที่ถ่ายในช่วงเวลาเช้านั้น ดูอบอุ่น และเมื่อเวลาสาย อุณหภูมิสีของแสงสูงขึ้น ในมุมโพราไรซ์ จะเห็นท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงินเข้ม ภาพที่ได้จึงมักจะมีบรรยากาศของความสดใส หนักแน่น หรือช่วงเวลาเย็น พระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า แสงสีที่ได้จะเป็นสีโทนร้อนอีกครั้ง ท้องฟ้ามักจะอมไปทางสีส้มแดง ภาพที่ได้จึงมีความรู้สึกร้อนแรง ก่อนที่แสงสุดท้ายของวันจะหมดลง และท้องฟ้าก่อนมืดที่เป็นสีฟ้า น้ำเงิน บรรยากาศในภาพจะดูนิ่ง สงบ เยือกเย็น ทั้งหมดนี้ก็คือผลของโทนสีในภาพ จากการเลือกช่วงเวลาในการถ่าย
การปรับค่า WB (White Balance)
ค่า WB นั้นจะส่งผลไปถึงโทนสีในภาพแน่นอน ซึ่งปกติแล้ว เรามักจะตั้งค่า WB ในกล้องให้ตรงกับค่าอุณหภูมิสีของแสงของแหล่งกำเนิดแสงในภาพ เพื่อให้ได้สีสันที่ถูกต้อง แต่ในบางครั้ง เราสามารถเปลี่ยนค่าที่เราปรับได้นี้ ให้ต่างไปจากค่าปกติ เพื่อผลของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสีในภาพ เมนูการปรับ WB แบบ K มักจะทำงานได้ดี ซึ่งในค่าปกติ แสง Daylight จะอยู่ที่ 5500-5600 K (องศาเคลวิน) ถ้าเราปรับค่า WB ในกล้องเป็น Daylight หรือ Auto เราจะได้สีสันตามปกติ แต่ถ้าเราปรับค่า WB ใหม่สีในภาพก็จะเปลี่ยนแปลงไป ปกติแล้วถ้าแหล่งกำเนิดแสงนั้นมีค่า K สูงขึ้น แสงสีจะอมไปทางโทนสีฟ้า ถ้าต่ำลง ก็จะอมมาทางสีเหลืองส้ม ในการปรับค่า WB ที่กล้องก็เช่นกัน ถ้าเราเลือกปรับค่า K ให้สูงขึ้นกว่า 5000 K โทนสีในภาพจะออกไปทางโทนสีน้ำเงิน และถ้าต่ำกว่า 5000 K ก็ออกมาทางโทนสีส้ม เพราะการปรับค่าอุณหภูมิสีในกล้องจะเป็นการปรับค่าให้สัมพันธ์กันกับอุณหภูมิสีของแหล่งกำเนิดแสงนั่นเอง
การปรับโทนสี ด้วยซอฟแวร์
ในกรณีของซอฟแวร์ที่ใช้ในการปรับสีของภาพนั้น มีอยู่หลายตัว และ Photoshop ก็ยังคงเป็นโปรแกรมยอดนิยมที่ใช้งานกันมากที่สุด สำหรับเมนูคำสั่งที่น่าสนใจก็จะมีเช่น Color Balance, Variations, และยังมีคำสั่งอื่นๆ อีกมากมายที่มีความสามารถในการจัดการสีได้ และถ้าหากว่าเราถ่ายภาพเป็น RAW file ก็จะสามารถนำมาปรับแก้ค่า WB ด้วยซอฟแวร์จัดการ RAW file ได้ด้วย เช่น DPP ของ Canon, Capture NX 2 ของ Nikon หรือ Camera Raw ของ Adobe ซึ่งในการปรับแก้จากไฟล์ RAW นี้ จะได้คุณภาพของไฟล์ที่ดีกว่า และจะมีความยืดหยุ่นในการปรับได้เยอะกว่าด้วยครับ
ในการควบคุมโทนสีของภาพนั้น การทำความเข้าใจกับแหล่งกำเนิดแสงและการจับคู่สี เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่ามีหลายภาพที่โทนสีในภาพจะมีอยู่ด้วยกันทั้งสองอย่าง โดยสีของวัตถุหรือแบบเป็นโทนหนึ่ง สีของบรรยากาศโดยรอบ หรือฉากหลังเป็นอีกโทนหนึ่ง เพื่อความน่าสนใจของภาพนั่นเอง
ในภาพที่แหล่งกำเนิดแสงมีมากกว่าหนึ่ง แบบที่เรียกว่าแสงผสม เช่น แสงช่วงเวลาโพล้เพล้ หัวค่ำ ท้องฟ้าเป็นสีฟ้า ในขณะที่ตัวแบบ หรือวัตถุหลัก ได้รับแสงจากไฟทังสเตนสีส้ม ถ้าเราตั้งค่า WB ไว้ที่ Daylight ภาพที่ได้ท้องฟ้าก็จะออกไปทางขาวเพราะสมดุลสีที่ถูกต้อง ส่วนวัตถุก็จะออกไปทางส้มแดง เพราะความแตกต่างของอุณหภูมิสีแสง เราสามารถเลือกเอาค่า WB เป็น Tungsten ตามแสงที่ตกลงวัตถุหลัก เพื่อให้โทนสีของวัตถุไม่ออกไปทางส้มมากนัก และโทนสีของบรรยากาศ หรือฉากหลังท้องฟ้านั้น อมไปทางฟ้า น้ำเงิน ภาพก็จะได้อารมณ์ความรู้สึกมากกกว่า
ในการคบคุมโทนสีของภาพนั้น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ สีของวัตถุหลัก และแสงสีที่ตกลงวัตถุหลักในภาพ 2 สิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดโทนสีของภาพ ซึ่งโทนสีของภาพจะไปกำหนดอารมณ์และความรู้สึกในภาพด้วยนั่นเอง ดังนั้นเมื่อเราควบคุมโทนสีในภาพได้แล้ว การที่เราจะควบคุมให้อารมณ์ในภาพเป็นแบบใดนั้นก็จะง่ายขึ้นตามไปด้วยจริงไหมครับ…