เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’S
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 254/2018 November
เดี๋ยวนี้การถ่ายภาพนกได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นนะครับ ด้วยอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมามาก กล้องที่มีประสิทธิภาพ และเลนส์ที่มีให้เลือกใช้รวมทั้งราคาที่เข้าถึงง่าย เพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพนกมากขึ้นตามไปด้วย
เมื่ออุปกรณ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนกต่างๆ ก็หาได้ง่ายขึ้น นักถ่ายภาพนกหน้าใหม่ก็เพิ่มขึ้น เทคนิคการถ่ายภาพนกนับเป็นเรื่องที่หลายคนสนใจ ทำให้ผมนึกถึงตอนที่เริ่มหัดถ่ายภาพนกใหม่ๆ ที่มักจะได้ภาพนกหายาก คือมองหาในภาพไม่เจอ หรือเรียกว่าแห้วอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อผ่านการแห้วมานับไม่ถ้วนผมก็พบข้อสรุปในความผิดพลาดในการถ่ายนกไม่ให้พลาดมาฝากพวกเรากันครับ
วัดแสงผิดพลาด
ด้วยบ่อยครั้งที่สภาพแสงในการถ่ายภาพนกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อย ทั้งจากสภาพอากาศในธรรมชาติเอง และการเคลื่อนที่ของตัวนกเอง โดยเฉพาะกับภาพนกที่กำลังบินอยู่ เมื่อสภาพแสงเปลี่ยนการวัดแสงก็จะยากขึ้น ภาพที่ได้จึงมักจะไม่มืดเกินไปก็สว่างเกินไป
ทางแก้ เมื่อสภาพแสงเปลี่ยนแปลงบ่อยกว่าอากาศ เราต้องหวังเพิ่งประสิทธิภาพของกล้องโดยการเลือกใช้ ISO ระบบ Auto ISO ในกล้องหลายรุ่น เมื่อใช้ระบบนี้จะสามารถกำหนดความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดเอาไว้ได้เมื่อค่าแสงน้อยหรือมากกว่า กล้องจะเลือกค่า ISO ตั้งแต่ต่ำสุดหรือสูงสุดให้โดยอัตโนมัติตามที่เรากำหนดไว้ และอย่าลืมถ่ายภาพแบบไฟล์ RAW เผื่อบังเอิญชดเชยแสงผิดพลาดก็จะพอทำการแก้ไขได้ในโปรแกรมตกแต่งภาพ
เลือกความไวชัตเตอร์ผิดพลาด
ปัญหานี้มักจะเกิดกับการถ่ายภาพนกประเภทแอคชั่น เคลื่อนไหว ภาพนกในขณะที่กำลังบิน โดยปกติแล้วการขยับปีกของนกนั้นมีความไวมาก การจะหยุดการเคลื่อนไหวให้ได้จำเป็นต้องใช้ความไวชัตเตอร์สูง
อีกกรณีหนึ่งคือการจับถือเลนส์เทเลโฟโต้ แม้เลนส์รุ่นใหม่จะมีขนาดและน้ำหนักที่เล็กลงแล้วแต่ก็ถือว่าเป็นช่วงเลนส์ที่มีขนาดและน้ำหนักมากกว่าเลนส์ช่วงอื่น ดังนั้นโอกาสที่ภาพจะสั่นไหวเกิดขึ้นได้สูงเช่นกัน
ทางแก้ ในสมัยก่อนถ้าไม่ได้ตั้งกล้องบนขาตั้ง หรือโมโนพอตแล้วช่างภาพจะเลือกใช้ความไวชัตเตอร์เท่ากับทางยาวโฟกัสเลนส์ ถือเป็นค่าปลอดภัยที่จะถือกล้องได้นิ่งสนิทไม่สั่นไหว เช่น เลนส์ทางยาวโฟกัส 500 มม. ก็จะเลือกใช้ความไวชัตเตอร์ 1/500 sec. เป็นค่าตั้งต้น ยิ่งมาสมัยนี้กล้องสามารถใช้ค่า ISO สูงๆ ได้ เราสามารถเลือกใช้ความไวชัตเตอร์สูงๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องน๊อยส์ที่เพิ่มขึ้นจากการค่า ISO ที่จะสูงตามไปด้วย
โฟกัสผิดพลาด
ข้อนี้นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดในการถ่ายภาพนก หลายภาพจังหวะดี แสงได้ ทุกอย่างลงตัวแต่โฟกัสไม่เข้าเป้า ยิ่งเป็นจังหวะที่กำลังได้ภาพสวยงาม และรอคอยมานานแสนนานด้วยแล้วมักจะเจ็บใจเป็นพิเศษใช่ไหมครับ
ทางแก้ ทำความเข้าใจกับระบบโฟกัสของกล้องเสียก่อน โดยส่วนใหญ่แล้วเราต้องเลือกเกี่ยวกับระบบโฟกัส 2 เรื่อง คือ ระบบโฟกัส และพื้นที่โฟกัส ระบบโฟกัสนั้นกล้องมีให้เราเลือก 3 แบบ คือ แมนนวลโฟกัส MF ออโต้โฟกัสแบบวัตถุนิ่ง AF-S และออโต้โฟกัสแบบติดตามวัตถุเคลื่อนที่ AF-C
ระบบ MF นั้นเราจะใช้งานเวลาที่เราถ่ายภาพนกแบบหน้ารัง ในบางครั้งมีกิ่งไม้รกๆ ระบบออโต้โฟกัสมักจะทำงานพลาดโดยเฉพาะเวลาที่นกบินมาเกาะที่รัง ระบบ MF จะช่วยได้โดยการเลือกโฟกัสมาด้านหน้าของรังเล็กน้อย
ระบบ AF-S เป็นระบบที่ทำงานได้ดีเวลาที่นกเกาะนิ่งๆ อยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหวหรือการโฟกัสบริเวณรังนก เพราะการหมุนโฟกัสระบบ MF มีโอกาสหลุดโฟกัสได้ถ้าสายตาไม่แม่นยำ
ระบบ AF-C เป็นระบบที่ใช้งานบ่อยที่สุดโดยเฉพาะเมื่อต้องถ่ายภาพในจังหวะแอคชั่นต่างๆ ในกล้องบางรุ่นจะสามารถเข้าไปเลือกรูปแบบการทำงานของระบบ AF-C ได้อีก 5 รูปแบบในเมนู
เมื่อเลือกระบบโฟกัสได้แล้วก็มาถึงเรื่องสำคัญคือการเลือกพื้นที่โฟกัส ส่วนใหญ่ก็จะมีให้เลือกคือจุดเดียว แบบโซน และแบบแทคกิ้ง การใช้งานจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป เช่น นกบินบนท้องฟ้าพื้นที่แบบโซนจะทำงานหานกได้เร็วกว่า การเคลื่อนที่ของนกที่เราคาดเดาทิศทางได้ เช่น นกบินจากซ้ายไปขวา พื้นที่แบบแทคกิ้งอาจจะทำงานได้ดีกว่า หรือ ในจุดที่มีวัตถุหลายชิ้นเช่นใบไม้ กิ่งไม้รก พื้นที่จุดเดียวก็อาจทำงานได้ดีกว่า
จังหวะกดชัตเตอร์ผิดพลาด
ข้อนี้น่าเจ็บใจไม่แพ้เรื่องโฟกัสไม่เข้าเหมือนกันนะครับ ทุกอย่างเพอเฟกแต่ปีกแทนที่จะกางดันหุบ หรือถ่ายติดนกมาแค่ครึ่งเฟรมอีกครึ่งตกขอบภาพไปแล้วนกบินมา 3 ตัว ทำไมเราถ่ายได้ 2 อ่อ อีกตัวซ้อนกันอยู่ เหล่านี้คือตัวอย่างของจังหวะที่ผิดพลาดทั้งนั้นครับไปดูทางแก้กันดีกว่า
ทางแก้ จังหวะการกดชัตเตอร์กล้องนั้นหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าการกดชัตเตอร์แบบรัวๆ นั้นจะทำให้ได้ภาพที่ดี หารู้ไม่ว่าจริงๆ แล้วมันอยู่ที่การเลือกจับจังหวะให้ถูกต่างหาก อันดับแรกเลยจะดีมากถ้าเรารู้เสียก่อนว่าเรากำลังถ่ายภาพนกอะไร นกจำพวกเหยี่ยวมักจะชอบกางปีกร่อนไปตามลม นกจำพวกจาบคาที่กินแมลงจะมีจังหวะการบินที่โดดๆ ตามจังหวะการบินของแมลง นกที่ชอบกินดอกไม้จะบินไม่สูงนัก ชอบแวะเกาะตามกลีบดอกไม้และกระโดดไปมาบริเวณนั้น นกส่วนใหญ่มีสัญชาติญาณการกลับที่ มักจะบินกลับมาเกาะกิ่งไม้กิ่งเดิมที่เราเห็นในตอนแรก
นอกเหนือไปจากการศึกษาเรื่องพฤติกรรมของนก หรือทำความรู้จักนกที่จะถ่ายแล้วนั้นสิ่งสำคัญของการถ่ายภาพนก หรือสัตว์ป่าอื่นๆ ก็คือการรบกวนสัตว์เหล่านั้นให้น้อยที่สุด การตัดกิ่งไม้ที่บังรังนกออกไปเพราะภาพรก การใช้เหยื่อล่อ การส่งเสียงดัง ฯลฯ เป็นข้อผิดพลาดที่ไม่ควรให้เกิดที่สุดนะครับ เราคงไม่อยากให้ภาพที่สวยงามที่เราถ่ายมานั้นมีฉากหลังที่น่าเศร้าใจ จริงไหมครับ…