เรื่อง+ภาพ : Poch
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 257/2019 February
การถ่ายภาพรถแข่ง เป็นการถ่ายภาพอีกประเภทหนึ่งที่มีความน่าสนใจ น่าตื่นเต้น สนุก และท้าทาย และคงไม่บ่อยครั้งที่เราจะได้มีโอกาสถ่ายภาพรถแข่งกันอย่างเต็มที่นัก ในครั้งนี้ผมได้รับโอกาสดีจากเวิล์ดคาเมร่าเข้าร่วมกิจกรรมถ่ายภาพการแข่งรถ Idemitsu 600 Super Endurance 2018 ครั้ง 2 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบแบบเอ็นดูรานซ์ที่มีระยะทางมากที่สุด ในประวัติศาสตร์มอเตอร์สปอร์ตไทย ด้วยเวลาวิ่งต่อเนื่อง 600 นาที หรือ 10 ชั่วโมง เรียกว่ามีเวลาถ่ายภาพอย่างยาวนานทั้งวันยันมืดเลยทีเดียว จึงขอนำเอาเรื่องราว และเทคนิคการถ่ายภาพมาฝากกันในรอบนี้ครับ ซึ่งมีข่าวแว่วมาว่าทางเวิล์ดคาเมร่าจะจัดทริปแบบนี้ให้กับลูกค้า โดยพาไปถ่ายภาพมันส์ๆ แบบนี้ตลอดปี ก็คงต้องรอติดตามข่าวกันนะครับ และในการถ่ายภาพรถแข่งนั้น มีหลายสิ่งที่เราต้องคำนึงอยู่ การเตรียมตัวที่ดีก็จะทำให้เราได้ภาพที่ถูกใจ และมันมีอะไรบ้างนั้นเราลองมาดูกัน
ศึกษาลักษณะของสนามแข่งและจุดถ่ายภาพ
สนามแข่งรถจะมีความแตกต่างกันในแต่ล่ะสนาม ระยะทาง เส้นทางโค้งต่างๆ ที่สำคัญ คือจุดถ่ายภาพ โดยส่วนใหญ่ช่างภาพจะใช้เส้นทางเดียวกันกับทีมพยาบาล ซึ่งเป็นเส้นทางเล็กๆ เลาะขอบสนามไป หลักสำคัญคือการไม่รบกวนการทำงานของหน่วยพยาบาลที่จะต้องเข้าช่วยเหลือนักแข่งทันทีที่เกิดอุบัติเหตุในสนาม ดังนั้นช่างภาพต้องระมัดระวังความปลอดภัยในการใช้เส้นทางเรสคิวนี้ และปฏิบัติตามกฎของสนามแข่งอย่างเคร่งครัด เช่นการเดินข้ามพิทไลน์การหยุดถ่ายภาพขอบสนามตามจุดต่างๆ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่คุณทำผิดกฎของสนามแข่ง คุณจะถูกเชิญตัวออกจากสนามทันที พร้อมทั้งต้องเสียค่าปรับตามอัตราที่สนามกำหนดอีกด้วย
นอกจากความปลอดภัยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งต้องคำนึง คือ มุมถ่ายภาพที่เป็นไลน์ในของสนามซึ่งมักจะมีทางลอดอยู่ไม่กี่จุด ซึ่งเราต้องดูทิศทางแสง และมุมภาพให้ดี แล้ววางแผนเส้นทางถ่ายภาพของเราเอง ถ้าสนามที่เราต้องเดินเท้าการย้อนกลับ หรือเดินอ้อมเพื่อไปที่ทางลอดนั้นอาจจะทำให้ต้องเดินกลับไปกลับมาหลายกิโลฯซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันแสง หรือไม่ทันภาพที่ต้องการได้
อย่างสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิตที่บุรีรัมย์นี้ จากแผนที่จะเห็นว่ามีทางโค้งน่าสนใจอยู่ และมีทางตรงที่รถจะอัดความเร็วได้ส่วนจุดทางลอดนั้นมีอยู่หนึ่งจุด ทางด้านซ้ายของอัฒจันทร์ฝั่งจุดสตาร์ท ซึ่งถือว่าไกลพอสมควรสำหรับรอบนี้ที่เราจะต้องเดินเท้าเลาะขอบสนาม ส่วนนั่งร้านสำหรับถ่ายภาพมุมสูงมีอยู่ตามโค้งต่างๆ หลายจุด
นึกภาพที่ต้องการและเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ
เมื่อเรามองภาพรวมของสนามแข่งที่เราจะถ่ายภาพแล้ว เราก็มาวางแผนการถ่ายภาพกัน โดยส่วนใหญ่ภาพแข่งรถนั้นหลักๆ ก็จะมีช่วงพิธีเปิด ที่จุดสตาร์ท บรรยากาศต่างๆ ของนักแข่ง และสาวๆ พริตตี้ จากนั้นรอบแรกๆมักจะเป็นช่วงพาเหรดที่รถจะยังไม่ใช้ความเร็วมากนัก และขับเกาะกลุ่มกันไป ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ภาพรถหลายๆ คันในเฟรมเดียวดังนั้นการจัดสรรเวลาถ่ายภาพช่วงนี้จึงสำคัญอย่ามัวถ่ายภาพพริตตี้เพลินนะครับ เผื่อเวลาเข้าจุดถ่ายภาพที่เล็งไว้ด้วย
อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่ายภาพรถแข่งนั้น กล้องที่เปลี่ยนเลนส์ได้ เลนส์ช่วงทางยาวโฟกัสนั้นค่อนข้างใช้ได้หลากหลาย ตั้งแต่มุมกว้างที่จะใช้ในช่วงจุดสตาร์ท หรือเลนส์เทเลโฟโต้ที่จะใช้ถ่ายภาพรถแข่งในสนาม ที่สำคัญควรหาขาตั้งกล้องแบบโมโนพรอตติดไปด้วยเพราะเราอาจจะต้องถือเลนส์เทเลโฟโต้ที่มีน้ำหนัก และขนาดใหญ่ นานหลายชั่วโมง อุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ หรือเมมโมรี่การ์ด ควรมีให้เพียงพอ (อย่าลืมปลอกแขนกันแดด หรือร่มคันเล็กพกติดกระเป๋าไปด้วยก็ดีนะครับ เวลากลางวันเดินเปลี่ยนจุดถ่ายภาพแดดร้อนมากเลยทีเดียว)
ภาพช่วงปล่อยตัว บรรยากาศต่างๆ ที่จุดสตาร์ทและภาพที่น่าสนใจในช่วงเวลาอื่นๆ
อย่างที่บอกไปช่วงปล่อยตัวที่จุดสตาร์ทนี้เมื่อประตูเข้าสนามเปิด จะมีบรรยากาศน่าสนใจของรถแข่งที่จอดเรียงแถวกัน และนักแข่งรวมไปถึงสาวพริตตี้ ให้เราได้ถ่ายภาพ ถ้าการแข่งครั้งนี้มีหลายประเภท หรือหลายวัน เราสามารถเลือกได้ว่าจะที่จุดสตาร์ทนี้ เราจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน ซึ่งพอใกล้เวลาสตาร์ทนั้นจะมีการประกาศเวลา 5 นาที และ 3 นาทีสุดท้ายถ้าเราจะเข้าไปถ่ายภาพการแข่งรถในไลน์โค้งในเราจะสามารถข้ามไปก่อนเวลาสตาร์ทเริ่มได้เลยโดยไม่ต้องอ้อมไปที่ทางลอด (แต่หลังจากสตาร์ทไปแล้ว เราจะกลับเข้ามาที่โค้งนอกไม่ได้ต้องเดินไปลอดทางลอดเท่านั้น) ดังนั้นพอป้าย 3 นาทีก่อนสตาร์ทขึ้น ให้เตรียมตัวไปจุดถ่ายภาพที่วางแผนไว้ทันที ส่วนถ้าเราจะถ่ายภาพจากไลน์นอกก็เดินข้ามกลับมาที่พิทไลน์และไปที่จุดถ่ายภาพที่วางแผนไว้ได้เช่นกัน
ต่อจากช่วงสตาร์ทรถแล้วนั้น ต่อไปคือภาพการแข่งรถแล้วล่ะครับ ภาพการแข่งรถในช่วงแรกนั้นน่าถ่ายภาพมาก เพราะรถทุกคันจะยังไม่ใช้ความเร็วสูงมากทำให้เราเลือกถ่ายภาพได้ง่าย และที่สำคัญ รถยังเกาะกลุ่มกันอยู่โอกาสที่จะได้ภาพรถหลายคันในภาพมีมาก ดังนั้นในช่วงแรกของการแข่งขัน จะเป็นช่วงที่เราควรหามุมถ่ายภาพเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นโค้งสวยๆ หรือจังหวะของรถที่เกาะกลุ่มกันมาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
บรรยากาศนอกจากในสนามแล้ว ข้างสนามอย่างในบริเวณพิทไลน์ การแก้ไขรถ การเปลี่ยนยาง ต่างๆ ก็มีความน่าสนใจให้เราเก็บภาพได้ แต่ต้องระวังเรื่องของการเข้าไปขัดขวางการทำงานของทีมแข่งรถด้วยนะครับ พยายามระมัดระวังตัวให้เยอะที่สุด โดยเฉพาะการเดินข้ามพิทไลน์ เพราะรถที่กำลังเข้าพิทไลน์นั้นแม้จะชลอความเร็วแล้ว แต่ก็ยังเป็นระดับความเร็วที่อันตรายกับเราอยู่ สังเกตทีมรถแต่ล่ะทีม ถ้ามีรถกำลังจะเข้าพิทไลน์ ทีมนั้นจะมาเตรียมตัวหน้าช่องของตัวเอง
สุดท้ายคือช่วงเวลาเย็นและค่ำ เป็นช่วงเวลาที่จะมีแสงสวยงามให้เราถ่ายภาพ มองหาทิศทางแสงและไปให้ถึงจุดถ่ายภาพที่วางไว้ดังนั้นจะเห็นว่า การวางแผนเส้นทางถ่ายภาพของตัวเองในสนามเป็นเรื่องสำคัญมาก และเมื่อการแข่งขันจบลง บรรยากาศของการดีใจของทีมที่ชนะเลิศก็เป็นสีสันหนึ่งที่เราจะถ่ายภาพดีๆ ได้เช่นกัน เรียกว่าการถ่ายภาพรถแข่งนั้นมีอะไรให้ถ่ายอยู่ตลอดเวลา
การปรับค่ากล้องที่เหมาะสม
โดยส่วนมากแล้วรถแข่งนั้นมักจะแล่นด้วยความเร็วสูง การถ่ายภาพนั้นสิ่งสำคัญจะอยู่ที่การเลือกใช้ความไวชัตเตอร์ที่เหมาะสมกับภาพที่เราจะถ่าย เช่นถ้าเราจะแพนกล้องไปด้วยความไวชัตเตอร์ต้องสัมพันธ์กับความเร็วของรถและจังหวะการแพนกล้องของเรา 3 สิ่ง นี้ต้องสัมพันธ์กัน เช่น รถที่กำลังวิ่งทางตรงจะแล่นเร็วมาก ความไวชัตเตอร์ที่เหมาะสมอาจจะอยู่ที่ 1/250-1/500 วินาที พร้อมกับการแพนกล้องให้ขนานไปกับรถพอดีกัน แต่ถ้าเป็นรถกำลังเข้าโค้งความเร็วจะลดลง การแพนจังหวะนี้ควรลดความไวชัตเตอร์ลงสักประมาณ 1/60-1/125 วินาที เพื่อให้สัมพันธ์กับความเร็วของรถนั่นเอง นอกจากนั้นการเลือกใช้ระบบโฟกัสของภาพแบบตามวัตถุ ก็จะทำให้โฟกัสภาพได้แม่นยำขึ้นส่วนการตั้งค่าอื่นๆ ก็จะเป็นไปตามค่าแสงในช่วงเวลานั้นๆ รวมทั้งการเลือกค่า ISO (โดยปกติผมจะแนะนำว่าเลือกใช้ AUTO ISO แล้วกำหนดช่วง ISO ที่จะใช้เช่น ISO 100-800 จะไม่ต้องเสียเวลามาคอยปรับค่า ISO เมื่อค่าแสงเปลี่ยนไป)
การวางองค์ประกอบภาพที่น่าสนใจ
การที่รถไม่อยู่นิ่งมีการเคลื่อนที่ตลอด การจัดวางองค์ประกอบภาพจึงต้องอาศัยความแม่นยำความยากของการจัดองค์ประกอบเวลารถเข้าโค้งนั้น เคล็ดลับจะอยู่ในการเลือกจุดโฟกัส คือให้วางจุดโฟกัสเอาไว้มุมล่างขยับไปด้านที่รถวิ่งไป เช่น รถเข้าโค้งขวา จุดโฟกัสควรวางเอาไว้บริเวณมุมล่างซ้าย พอรถตีโค้งเข้ามาจะวิ่งมาที่ตำแหน่งจุดโฟกัสที่เราตั้งไว้พอดี การเลือกฉากหลังที่เรียบง่าย ไม่รกสายตา รวมทั้งการหา เส้นต่างๆ เข้ามาช่วยในการจัดองค์ประกอบภาพก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้การจัดองค์ประกอบภาพไม่ยากเกินไปนัก
ในการถ่ายภาพรถแข่งนั้น นอกจากการแพนรถแข่งคันเดียวแล้ว การเลือกจังหวะที่รถมากกว่า 1 คัน ในเฟรมภาพจะทำให้ได้ภาพที่ให้ความรู้สึกของการแข่งขันมากกว่าภาพที่มีรถเพียงคันเดียว และในหลายจังหวะนั้นรถที่กำลังวิ่งมาด้วยความเร็วสูงอาจจะจับภาพได้ยาก แต่ในบางช่วงของสนาม เช่น โค้งต่างๆ รถจะชลอความเร็วลง เราสามารถถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้อย่าลืมถ่ายให้เห็นถึงความเร็ว หรือการเคลื่อนไหว เช่น การตีโค้งการหมุนของวงล้อ ภาพก็จะดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ดูเป็นภาพรถแข่ง ไม่ใช่จอดอยู่บนถนนนิ่งๆ ครับ…