เรื่อง+ภาพ : นพดล…

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 251/2018 August

ถ่ายภาพ และสอนถ่ายภาพ มานานหลายสิบปี…คำถามหนึ่งที่เจอบ่อยครั้งเวลาออกทริปถ่ายภาพ ก็คือ…ควรใช้เลนส์ขนาดไหนถ่ายภาพครับ….สำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่ๆ ผมเชื่อว่า ก็คงจะมีอีกหลายท่านเหมือนกันละครับ ว่าจะเลือกเลนส์ช่วงไหน ขนาดไหนถ่ายภาพในสถานการณ์ต่างๆ

ในยุคของการถ่ายภาพระบบดิจิตอล ก้าวไกลอย่างรวดเร็ว การถ่ายภาพง่ายมากขึ้น โอกาสได้ภาพงามๆ มากขึ้น ที่สำคัญก็คือ ซอฟแวร์ มีส่วนในการปรับแต่งภาพได้ภาพงามขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์เลยทีเดียว แต่สำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่ ก็ยังคงติดปัญหา ตัดสินใจว่าจะเลือกเลนส์ช่วงไหน ขนาดไหน สำหรับถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการนำเลนส์ติดตัว เพื่อไม่ให้เป็นภาระสำหรับการเดินทางถ่ายภาพ แน่นอนว่า ยังเกี่ยวข้องกับการหาซื้อเลนส์ไว้ใช้งานอีกด้วย

สำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่ สิ่งแรกที่เกี่ยวกับเลนส์ที่คุณควรจะทำความเข้าใจก่อนก็คือ ความยาวโฟกัสของเลนส์ กับ ความกว้างของมุมภาพ

กลุ่มของเลนส์มุมกว้าง… [wide  angle lens] สำหรับกล้อง 35 มม. (Full frame) เลนส์มุมกว้างจะมีขนาดความยาวโฟกัสของเลนส์ต่ำกว่า 50 มม. ที่นิยมเดินถ่ายสะดวกก็มักจะแนะนำว่าเป็นเลนส์มุมกว้าง 35 มม. ยิ่งตัวเลขความยาวโฟกัสของเลนส์ต่ำลงมามุมรับภาพก็จะยิ่งกว้างมากขึ้น มีกันตั้งแต่มุมกว้าง 28 มม., 24 มม. ไล่ไปจนกระทั้งเป็นเลนส์มุม กว๊าง…กว้าง…ระดับ Super Wide ขนาด 17 มม., 16 มม. หรือจะกว้างกว่านั้นระดับ Ultra Wide ประเภท 12 มม. จนถึง 8 มม. แถมยังมีเลนส์ พิเศษประเภท ตาปลา [Fish Eye] ที่ให้ผลของภาพถ่ายเป็นวงกลมเกือบ 180 องศาเลยทีเดียว

เลนส์มาตรฐาน หรือเลนส์นอมอล…[Standard Lens] เป็นเลนส์ขนาดความยาวโฟกัส 50 มม. เข้าใจกันง่ายๆ ก็แล้วกันว่า เลนส์ขนาด 45-55 มม. จะมีมุมภาพอยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มนี้

เลนส์ถ่ายไกล… [Telephoto Lens]  เป็นเลนส์ที่มีขนาดความยาวโฟกัสมากกว่า 50 มม. ขึ้นไป ส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงตั้งแต่ 70 มม. ขึ้นไป ถ้าเป็นช่วงปกติก็จะไปถึง 200 มม. แต่ก็จะมีที่สูงกว่านี้ถึง 300 มม.  ถ้ามากขึ้นไปอีก ก็มักจะเรียกกันว่า Super Telephoto ขนาดก็ตั้งแต่ 400 มม. ไปจนถึง 1000 มม. เลยทีเดียว

อย่าเพิ่งเบื่อ นึกว่ามาสอนเรื่องขนาดเลนส์ วันนี้อยากรู้เรื่องนี้ค้นหากันได้ง่ายมาก แต่ก็มีหลายคนโดยเฉพาะมือใหม่ ขอย้ำไว้ก่อนว่า สำหรับมือใหม่ ที่ยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับขนาดเลนส์ นะครับ…

เลือกเลนส์ใช้งาน… เคยเห็นนักถ่ายภาพหลายคนพกเลนส์ติดตัวมากมายเรียกว่า ครบสูตรสำหรับการถ่ายรูปเลย พกตั้งแต่เลนส์ระดับ Super Wide ยัน Super Telephoto ผลหรือครับ แบกกันจนไหล่ทรุดหลังแอ่น เวลาจะใช้งานที ก็ต้องวางสัมภาระ ปรับเปลี่ยนเลนส์กันให้วุ่นวาย เผลอหน่อยเดียว สิ่งที่ตั้งใจจะถ่าย หายไปแล้ว!!!!… ไปถามเถอะ คนที่เคยแบกขนาดหนักๆ นี้ นานวันเข้ากลายเป็นผู้ปวดหลังปวดไหล่ไปกันเยอะแล้วละท่าน

อย่างนั้น…ควรจะเลือกเลนส์พกติดตัวใช้งานอย่างไรละคุณ…ท่านคงอยากจะถามแน่ๆ… คิด…คิด…คิด…ซิคุณ… ว่าวันนี้คุณตั้งใจถ่ายอะไร…ไปเที่ยวเพื่อถ่ายภาพ…เดินชิวๆ ถ่ายภาพ…ถ่ายพระอาทิตย์ตก…ถ่ายแมลง…ถ่ายนก…ถ่ายดาว… ยังมีอีก…ถ้าคุณไปเที่ยวถ่ายภาพ…ไปเที่ยวที่ไหน…เที่ยวทะเล, เที่ยวป่าเขาน้ำตก หรือแหล่งท่องเที่ยวอื่น…

ถ้าคิดถึงตรงนี้ คุณก็สามารถที่จะคิดต่อได้ว่า คุณอยากได้มุมภาพอย่างไร คุณก็สามารถเตรียมการเรื่องเลนส์ที่จะนำติดตัวได้เหมาะสมกับการเดินทางที่ไม่เป็นภาระที่มากจนเกินไป แต่ถ้าคุณคิดว่าอยากเผื่อโน่นเผื่อนี่ ก็เชิญคุณแบกรับภาระน้ำหนักไปทั้งหมดได้เลยครับ….

แล้ว อาจารย์ พกเลนส์อะไรออกถ่ายรูปบ้าง…คำถามเข้าตัวแล้วไง…555…ต้องบอกก่อนว่า ผมใช้เลนส์จำกัดตัวครับ…ตลอดระยะเวลาของการถ่ายภาพ ผมก็พยายามหลีกเลี่ยงเรื่องพกเลนส์มากตัว เพื่อไม่ให้เป็นภาระ อ้อ…ต้องบอกก่อนเหมือนกันว่า ผมใช้เลนส์ซูมมากกว่าเลนส์ Fixed ดังนั้นภาวะปกติ ผมจะพกเลนส์สำหรับใช้งานไม่เกิน 2 ตัว + กล้อง เท่านั้นแหละ สะดวก และไม่ต้องแบกน้ำหนักมากเกินไป 

แต่ผมจะเลือกเลนส์ที่คลุมการถ่ายภาพตั้งแต่ช่วงมุมกว้าง 24 มม. จนถึง ช่วง 200 มม. เป็นหลัก อย่างเช่น พกเลนส์ซูม 24-105 มม. (หรือ 24-120 มม.) และเลนส์ซูม 70-200 มม. (หรือ 100-400 มม. ถ้าต้องการช่วงไกลกว่า 200 มม.) เป็นเลนส์ 2 ตัวเป็นหลัก ยิ่งวันไหนถ้ามองแล้วมุมภาพที่จะถ่ายไม่ไกลมากก็เหลือเพียงเลนส์ซูม 24-105 มม. หรือ 24-120 มม. ตัวเดียวก็เคย แต่นั่นก็คือภาวะปกติ ที่เพียงพอสำหรับการถ่ายภาพทั่วๆยกเว้นแต่ว่า งานนั้นเป็นงานเฉพาะที่สำคัญ ก็ต้องยอมละครับ สำหรับการเตรียมอุปกรณ์ครบชุดเลยทีเดียว

การพกอุปกรณ์จำกัด อย่างที่บอกไว้ นั่นคือ มุมภาพกว้างที่ 24 มม. ถึง ช่วงถ่ายไกลที่ 200 มม. แม้ว่าจะลดภาระในการแบกติดตัวได้ก็จริงอยู่ แต่การมองมุมภาพ ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการถ่ายภาพ ประสบการณ์และการดูภาพเยอะๆ จะทำให้คุณสามารถเลือกมุมมองการถ่ายภาพให้สัมพันธ์กับเลนส์ที่เตรียมไปได้เป็นอย่างดี และเพิ่มความมั่นใจได้ว่าคุณจะได้ภาพกลับมา

ลองดูมุมภาพ…

ภาพที่ 1 ถึง ภาพที่ 4 ถ่ายเมื่อตอนไป ต้าลี่ นานแล้ว กล้อง Nikon D200 ติดเลนส์ 70-200 มม. เป็นทางโค้งของหมู่บ้านชนบท มีแนวกำแพงขาวอยู่ทางซ้ายมือ วางมุมภาพไว้ ถ้ามีคนเดินมา น่าจะได้ภาพ (มีคนเดินไปมาอยู่เรื่อยๆ) เมื่อมีคนเดินมา (เลือกเอาที่แต่งกายน่าสนใจหน่อย) ก็ถ่าย และซูมตามตลอด จนเดินผ่านไป แล้วจึงนำภาพมาเลือก…มั่นใจเลยว่า แบบไม่หนีไปจากเฟรมภาพแน่นอน…

ภาพที่ 1

ภาพที่ 2

ภาพที่ 3

ภาพที่ 4

ภาพที่ 5 ถึง ภาพที่ 9 ถ่ายภาพด้วยกล้อง Nikon D750 ติดเลนส์ 24-120 มม. เป็นเลนส์ซูม ถ่ายภาพที่ช่วง 24 มม. หลายคนที่ชอบการถ่ายภาพในลักษณะนี้ คงอยากได้เลนส์มุมกว้างมากๆ  ซึ่งแน่นอนก็ต้องพกเผื่อกันไป แต่ในความเห็นผม ช่วง 24 มม. ก็ OK อยู่แล้วละครับ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพวิว หรือแสงเย็น แสงเช้า ที่สำคัญก็คือ  เลนส์ช่วง 24 มม. นั้นส่วนใหญ่ Distortion ค่อนข้างต่ำ วางมุมภาพตั้งตรงได้ง่ายครับ

ภาพที่ 5

ภาพที่ 6

ภาพที่ 7

ภาพที่ 8

ภาพที่ 9

ภาพที่ 10 และ ภาพที่ 11 ตั้งใจไปถ่ายดาว คราวนี้เยอะไปหน่อย ใช้กล้อง Nikon D750 ติดเลนส์ 14-24 มม. กับกล้อง Sony A6300 ติดเลนส์ตาปลา 190 องศา ภาพเป็นวงกลม ที่ทนแบกไป 2 ชุด เพราะว่าเสียดายโอกาส ที่มีโอกาสขึ้นไปถ่ายที่ดอยอินทนนท์  ภาพเลือกปรับอุณหภูมิสี 2 แบบ เพื่อเปรียบเทียบอารมณ์ของภาพได้ ความจริงเรื่องปรับอุณหภูมิสีของภาพวันนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องประหลาด ซอฟแวร์ทำได้ง่ายมาก…

ภาพที่ 10

ภาพที่ 11

สำหรับภาพที่ 12 และ ภาพที่ 13 ถ่ายภาพวิวยามเช้า และถ่ายวิวหมอกไหลยามเช้าหลายคนพุ่งเป้าใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่ายภาพ แต่ผมคิดกลับทางครับ เลือกใช้เลนส์ถ่ายไกล หรือเลนส์เทเลถ่ายแทน ซึ่งก็จะได้ภาพที่แตกต่างไปจากใช้เลนส์มุมกว้าง

ภาพที่ 12

ภาพที่ 13

ผมหวังว่า…ประสบการณ์นี้จะพอเป็นประโยชน์กับนักถ่ายภาพ ในการเลือกเลนส์สำหรับพกติดตัวถ่ายภาพ แล้วจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับการออกถ่ายภาพมาฝากอีกครับ…