เรื่อง : นพดล
บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 248/2018 May
Leica IIIa Model G
การพัฒนาเทคโนโลยีของกล้อง Leica ในยุคนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในเวลาต่อมา ได้มีการพัฒนาเพิ่มขนาดความเร็วชัตเตอร์ขึ้นไปอีกเป็น 1/1000 วินาที ในกล้องรุ่นใหม่คือ Leica IIIa Model Gกล้องถ่ายภาพรุ่นนี้จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับช่างภาพกีฬาทั้งหลาย ซึ่งจะเป็นต้องใช้เวลาอันรวดเร็วเพื่อบันทึกภาพขณะที่มีการแข่งขัน
Leica IIIa เริ่มต้นผลิตครั้งแรกในปี ค.ศ. 1935 ที่หมายเลข 156201 เรียกกันว่ารุ่น Type G ชื่อนี้ถูกเรียกรวมไปถึงกล้อง Leica IIIb ที่ผลิตตามออกมาภายหลังในปี ค.ศ. 1938 อีกด้วย และนับเป็นกล้องรุ่นสุดท้ายที่ใช้ลำดับตัวอักษรมาเรียกแทนชื่อกล้อง
ลักษณะโดยทั่วไปของกล้อง Leica IIIa เหมือนกับกล้อง Leica III Model F แต่เพิ่มขนาดความเร็วชัตเตอร์ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง จากเดิมซึ่งมีแบบ Slow Speed ขนาด 1, 1/2, 1/4, 1/8, 1/20 พร้อมชัตเตอร์ T ความเร็วชัตเตอร์ขนาด 1/20, 1/40, 1/60, 1/100, 1/200 และ 1/500 เพิ่มขึ้นเป็น 1/1000 วินาที พร้อมชัตเตอร์ Z และยังคงต้องเลือกปรับที่ปุ่มตรงด้านหน้าและด้านบนของตัวกล้อง
LEICA IIIa, “Model G”
การผลิตกล้อง Leica IIIa ระบุว่าเริ่มผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 ที่หมายเลข 156201 สายการผลิตกล้อง Leica รุ่นนี้ผลิตในอัตราเฉลี่ย 200-300 กล้องต่อครั้ง โดยผลิตร่วมกับ Leica รุ่นอื่นๆ ด้วย ในสองปีแรกการผลิตกล้อง Leica III กับ Leica IIIa ผลิตในปริมาณเท่าๆ กัน แต่ในปีต่อๆ มา ปริมาณการผลิต Leica III ยังจะเห็นได้จากสัดส่วนการผลิตใน ค.ศ. 1939 Leica IIIa ผลิตจำนวน 91,000 กล้อง ส่วน Leica III ผลิตแค่ 80,000 กล้อง และเมื่อเทียบกับที่เหลือคือ Leica II ผลิต 53,000 กล้อง กับ Leica Standard 27,000 กล้อง และแม้แต่ Leica IIIb ซึ่งเป็นสายการผลิตชุดหลังสุดในเวลานั้นยังผลิตได้แค่ 20,000 กล้องเท่านั้น การผลิต Leica IIIa เริ่มลดน้อยถอยลงตามลำดับในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งมายุติลงใน ค.ศ. 1950 ที่หมายเลข 357200
กล้อง Leica IIIa ถือว่าเป็นกล้องต้นแบบให้กับกล้อง Leica รุ่นพิเศษอีกหลายรุ่น ที่สำคัญคือกล้อง Half-format Camera ซึ่งเป็นกล้องที่ให้ขนาดความสูงของกรอบภาพ 18 x 24 มม. กล้อง Leica IIIa ต้นแบบที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองเวทซ์ลาร์ (Wetzlar) คือหมายเลข 357151 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายที่ผลิตขึ้น และกล้อง Half-frame Camera เป็นกล้องที่ผลิตขึ้นโดยโรงงานของ Ernst Leitz ที่ Canada เริ่มที่หมายเลขลำดับกลางๆ ของกล้อง Leica IIIa ที่ผลิตขึ้นในรุ่นสุดท้าย คือหมายเลข357200 และเป็นรุ่นที่ไม่ปรากฏว่ามีในที่อื่น
ลำดับการพัฒนาของ Leica IIIa นั้น เริ่มผลิตจากแบบที่ชุบโครเมี่ยม (Chrome) ต่อมาเมื่อแบบ Black หวนกลับมาได้รับความนิยมอักครั้ง Leica III ก็หันมาผลิตแบบ Black บ้าง และเมื่อโรงงานไลทซ์ (Leitz) ผลิตกล้อง Leica IIIf แบบ Black Synchronic ในช่วงทศวรรษ 1950 แล้ว กล้อง Leica IIIa ก็ได้รับการปรับปรุงให้มีระบบแฟลช แบบ Leica Black IIIa Synchronice Model ด้วย
การพัฒนาในขั้นต่อมาได้แก่การปรับปรุงแผ่นโลหะ และไกชัตเตอร์ด้านบนตัวกล้อง (ดังรูป) ติดตั้งห่วงพร้อมสายหนังสะพายกล้อง ซึ่งปรับปรุงมาจากกล้อง Leica II เพื่อการถือกล้องกระชับถนัดมือยิ่งขึ้น
บางส่วนของกล้อง Leica IIIa ที่ผลิตขึ้น มีค่าสูงมากสำหรับนักสะสมกล้อง เพราะเหตุว่ามี LeicaIIIa อยู่จำนวนหนึ่งที่มีการจารึกคำว่า Monte en Sarre กำกับอยู่ เป็นรุ่นสุดท้ายที่ผลิตออกมาและเป็น Military Version
Dioptre adjustment on rangefinder eye-piece of LEICA llla
Dioptre adjustment under rewind knob on LEICA lllb
ประวัติของ Leica Monte en Sarre มีอยู่ว่า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง บริษัท Saroptico ซึ่งมองการณ์ไกลได้ทำการรวบรวมกล้อง Leica III ในบริเวณเขตยึดครองของฝรั่งเศส ที่เมือง St.Ingbert ในแคว้น Sarre ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของเยอรมัน (เยอรมันตอนนั้น ถูกแบ่งดินแดนออกเป็น 4 ส่วน มีมหาอำนาจอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐและรัสเซียดูแลกันคนละส่วน) กล้อง Leica เหล่านั้นถูกจารึกคำ Monte en Sarre เป็นกล้องที่ถูกกำหนดอัตราภาษีศุลกากรสูงมาก ยากที่จะหลบเลี่ยงได้ ทั้งหมดถูกส่งออกไปจำหน่ายทั้งในประเทศฝรั่งเศส และ อาณานิคมดูเหมือนว่ากล้อง Leica Monte en Sarre จะมีอยู่เพียง 500 กล้อง หมายเลขกล้องเท่าที่มีการบันทึกไว้ มีตั้งแต่ 359000-359504 รุ่นสุดท้ายที่ยังพอมีให้เห็น มีหน้าตาคล้ายกับกล้อง Leica IIIf
ภาพตัวอย่างที่นำมาเสนอ เป็นกล้อง Past Owner ซึ่งได้รับการดัดแปลงไปจากกล้องต้นแบบมีหมายเลขระหว่าง 3 ถึง 8 หลักซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Leica IIIf Monte en Sarre อันเป็นกล้องต้นแบบที่ยากจะหาได้พบในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี การที่กล้อง Leica IIIa ผลิตขึ้นในปริมาณที่ค่อยข้างมากทำให้เป็นกล้องที่หาซื้อได้ โดยกล้อง Leica IIIa รุ่น Chrome มีราคาประมาณไม่ต่ำกว่า 175 เหรียญสหรัฐ และพบได้ทั่วไปในตลาดสะสมกล้องส่วนรุ่น Black ดูเหมือนว่าจะมีจำนวนน้อยกว่ามาก คือ มีราคาประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐ อาจจะหาพบได้เฉลี่ย 5 ปีต่อกล้อง และทั้งหมดนี้ก็ต้องเผื่อใจไว้ 300% ของความน่าจะเป็นอีกด้วย (ราคาในปี 1992 ปัจจุบันคงจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้)
Post-war IIIa flash snyc. conversion
LEICA IIIa “Monte en Sarre”
Leica IIIb
ขณะที่กล้อง Leica IIIa กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โรงงานไลทซ์ (Leitz) ก็ได้ผลิตกล้อง Leica IIIb ตามออกมาอีกรุ่นหนึ่ง เรียกว่า มีภาคสองต่อ และเป็นอีกภาคหนึ่งที่ Top Hit พอดู จนไลทซ์ต้องออกภาคสามเป็น Leica IIIc
ในระยะแรกที่ผลิตขึ้นนั้น กล้อง Leica IIIb ยังถูกเรียกว่า Model G อยู่ เพราะเหตุที่มีกลไกการทำงานและมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับ Leica IIIa Model G แต่เทคนิคสำคัญที่เพิ่มขึ้นของกล้อง Leica รุ่นนี้นับว่าสำคัญมาก เพราะเป็นกล้อง Leica รุ่นแรกที่รวมเอาเครื่องหาระยะชัด (Range-finder) กับช่องมองภาพ (View-finder) มาอยู่ติดกัน เพื่อให้การโฟกัสภาพทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เครื่องหาระยะชัดจึงได้รับการแก้ไขให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมโดยอยู่ใต้ปุ่มกรอฟิล์มกลับตรงด้านหน้าของตัวกล้อง และปรับขนาดให้สูงขึ้นกว่าเดิม จากขนาด 67 มม. ในรุ่น Leica III และ IIIa เป็น 68 มม. ช่องเสียบอุปกรณ์เสริมปรับให้เป็นแบบ 4 เขี้ยว แทนที่จะมีแค่ 2-3 เขี้ยว แบบเดิม และปุ่มกรอฟิล์มกลับก็ได้รับการแก้ไขให้อยู่ในตำแหน่งที่ใช้ได้ถนัดมากขึ้น
LEICA lllb
การผลิต Leica IIIb เป็นแบบ ชุบโครเมี่ยม มาตั้งแต่ต้น เริ่มผลิตใน ค.ศ.1937-1938 ที่หมายเลข 24001-241000 ในอีกสองปีต่อมา ยอดการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 10,000 กล้อง อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่ากล้องรุ่นนี้จะมีการผลิตอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี ค.ศ.1946 แต่การผลิตครั้งละมากๆ จะอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1939-1940 เท่านั้น ในปีต่อๆ มา ปริมาณการผลิตจะลดลงตามลำดับถึงขนาดที่ว่าในช่วง 6 ปีให้หลัง (ค.ศ.1940-1946) ซึ่งเป็นช่วงระหว่างสงคราม ผลิตรวมกันไม่ถึง 10,000 กล้อง Leica IIIb ยุติการผลิตใน ค.ศ. 1946 ที่หมายเลข 355000
Code ของกล้อง ถ้าไม่มีเลนส์ใช้ ATOOH ถ้าติดตั้งเลนส์ ELMAR F3.5 ใช้ ARHOO และ ถ้าติดตั้งเลนส์ SUMMAR F2 ใช้ AZOOB
ll, llla & Models, General Arrangement
ปัจจุบันกล้อง Leica IIIb เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ยังพอหาซื้อได้ในตลาดสะสมกล้อง คือ มีราคาประมาณการไม่ต่ำกว่า 375 เหรียญสหรัฐ โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสมกล้องประมาณ 14 วันต่อกล้อง และก็เช่นเดียวกับที่เคยกล่าวมาหลายครั้งแล้วว่า ราคาและโอกาสที่จะหาพบ เป็นแค่การคาดคะเนไว้เท่านั้น ต้องบวกลบเผื่อไว้ 300% ตามสภาพของกล้องและรสนิยมของแต่ละบุคคล (ราคาในปี 1992 ปัจจุบันคงจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้)
Exploded view of similar LEICA II – IIIa and b series, showing removable top plate cover, range finder combined with main shutter crate, removed shell and base plate.
Leica 72
อย่างที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้นว่า กล้อง Leica IIIa เป็นต้นแบบให้กับการผลิตกล้อง Leica ในรุ่นพิเศษอีกรุ่นหนึ่งในเวลาต่อมา กล้องที่ว่าก็คือกล้อง Leica 72 ซึ่งจัดอยู่ในกล้องถ่ายภาพประเภทกล้องงถ่ายภาพครึ่งกรอบ (Half-frame camera) และจะเป็นไปในรูปแบบใด ประเดี๋ยวเราจะได้รู้กัน คราวนี้เรื่องราวของ Leica เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนะครับ เพราะนอกจากโรงงานของไลทซ์จะผลิตกล้อง Leica จนกลายเป็นสินค้าที่ “ติดตลาด”ไปทั่วทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกาจน ไลทซ์ ต้องแยกสาขาไปเปิดโงงานขึ้นอีกที่ประเทศแคนาดา ใน ค.ศ. 1952 เพื่อให้ใกล้กับตลาดลูกค้ารายใหญ่ของตนแล้ว การเมืองของโลกที่ระอุร้อนระเบิดเป็นอภิมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1930-1945) ก็ทำให้กล้องไลก้ากลายเป็นยุทโธปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่คู่สงครามใช้ยิง (ภาพ) กันสนั่นหวั่นไหว ซึ่งกล้อง Leica ที่ฝ่ายต่างๆ ใช้ ยังมีการสลักคำหรือสัญลักษณ์ต่างๆ จึงยิ่งเป็นรุ่นที่สะดุดตาสะดุดใจและสะดุดกระเป๋า ของท่านนักสะสมกล้องอย่างแน่นอน
ที่สำคัญ ไลทซ์ ยังพัฒนากระบวนวิธีผลิตของตนเข้าสู่ระบบที่เรียกว่า “The Die-Cast Models” ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่กล้อง Leica IIIc และ Leica IIId เป็นต้นไป นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของไลทซ์ ก่อนที่จะพัฒนาเข้าสู่ยุคทองของ Leica
LEICA 72 (Wetzlar) with swing-over viewfinder mask
LEICA 72 with top cover and body shell removed showing main crate casting and film aperture 18×24 mm
Leica 72 ในระหว่างที่ไลทซ์ผลิตกล้อง Leica IIIa ออกจำหน่าย ภายในโรงงานได้มีการประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพรุ่นพิเศษขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อนำไปใช้งานเก็บเอกสารและงานทางวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งหมายให้เป็นกล้องถ่ายภาพครึ่งกรอบ (Half-frame camera) ที่ให้ขนาดภาพ 18 x 24 x มม. หรือ ครึ่งหนึ่งของภาพที่ถ่ายจากฟิล์มม้วน 35 มม. ทั่วไปทำให้กล้องสามารถถ่ายภาพได้ถึง 72 ภาพ
เทคนิคที่พัฒนาที่เพิ่มขึ้นของกล้อง Leica รุ่นนี้ ได้แก่ การเพิ่มที่นับจำนวนภาพที่ถ่าย โดยหมายเลข 0, 5, 10,…. ถึง 35 จะทำเป็นเครื่องหมายขีดสีดำ และ ตั้งแต่หมายเลข 40, 45, 50,…. ถึง 75 จะทำเป็นเครื่องหมายสีแดงช่องมองภาพมีการติดตั้งกรอบแสดงขนาดภาพ 18 x 24 มม. และซี่เฟื่องพันฟิล์มเปลี่ยนเป็นชนิดที่ใช้กับฟิล์มแถบ (film strip) แทนที่จะใช้กับฟิล์มม้วนแบบเดิม ส่วนกลไกการทำงานอื่นๆ ยังคงใช้ระบบเดียวกับ Leica IIIa
Swing-over viewfinder mask on LEICA 72
การผลิตกล้อง Leica 72 ผลิตทั้งในโรงงานของไลทซ์ที่เมืองเวทซ์ลาร์ เยอรมนี และที่เมือง Ontario Midland ประเทศแคนาดา เฉพาะที่ผลิตจากเมืองเวทซ์ลาร์ ทราบกันว่าคงเหลืออยู่เพียงบางส่วน ประมาณ 35 กล้อง เท่านั้นสายการผลิตหลักจะอยู่ที่แคนาดามากกว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ระหว่าง ค.ศ. 1946-1949 ร้อยละ 95 ของปริมาณการผลิตกล้อง Leica ทั้งหมดจะถูกส่งไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกา ไลทซ์จึงเห็นความจำเป็นต้องย้ายไปเปิดโรงงานขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่แคนาดา เพื่อให้ใกล้กับลูกค้ารายใหญ่ของตน กล้อง Leica 72 รุ่นที่ผลิตในแคนาดานี้จะมีการจารึกคำว่า “Ernst Leitz Canada Limited Midland Ontario” แต่จะถูกเรียกกันในหมู่นักสะสมกล้องว่า “The Canadian Leica 72” การผลิต The Canadian Leica 72 ระบุว่าเริ่มผลิตที่หมายเลข 357301 และในจำนวนนี้มีบางส่วนได้รับการติดตั้งแฟลชซิงโครไนซ์แบบเดียวกับกล้อง Leica IIIf ด้วย
น่าสังเกตว่า กล้อง Leica รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ผลิตออกจำหน่ายในระยะเวลาอันสั้นมาก ครองตัวอยู่ในกระแสการตลาดราว ค.ศ. 1950-1963 ปริมาณการผลิตทั้งหมด นับเป็นปริมาณต่ำที่สุดเท่าที่ ไลทซ์ เคยผลิตมา คือน้อยกว่า 500 กล้อง และในยุคดังกล่าวก็มีเพียง ไลทซ์ เท่านั้นที่ผลิตกล้องที่มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างไปจากขนาดปกติที่กระทำกัน ซึ่งในเวลาต่อมาก็เป็นที่ทราบกันว่า เป็นกล้องถ่ายภาพที่ผลิตขึ้นเพื่อการทำงานพิเศษเฉพาะกรณี และกล้องลักษณะที่ว่านี้ ก็มิได้มีเพียงเฉพาะกล้อง Leica 72 เท่านั้น ยังมีกล้องหน้าตาแปลกๆ อีกมากมาย เช่น กล้องเอกซ์เรย์ (X-ray Cameras) ซึ่งให้ขนาดภาพ 24×24 มม. เป็นต้น
Code ของกล้อง ถ้าเป็น Leica 72 ต้นแบบที่ผลิตในโรงงาน ซึ่งมิได้นำออกเผยแพร่ ยังไม่มี Code เรียกว่า มีรหัสเฉพาะ คือ “Betriebsk” No. 301 และ Leica 72 โมเดลที่สับเปลี่ยนเลนส์ได้ ใช้ LKOOM และถ้าติดตั้งเลนส์ ELMAR 50 มม. F3.5 ใช้ LMOOK
สถานะของ Leica 72 ในวงการตลาดสะสมกล้อง อาจกล่าวได้เลยว่า Leica 72 เป็นกล้อง Leica อีกรุ่นหนึ่งที่หายากและราคาแพง จากผลการรวบรวมของ D.R.Gross mark ในหนังสือชื่อ Leica International Price Guide. ระบุว่าถ้าเป็น The Canadian Leica 72 จะมีราคาสูงถึงประมาณ 5,000 เหรียญสหรัฐ +/- 300% ตามสภาพกล้องและการเจรจาของคู่ซื้อ – ขาย (ราคาในปี 1992 ปัจจุบันคงจะเปลี่ยนแปลงไปมากกว่านี้) แต่ถ้าเป็น The Wetzlar Leica 72 ก็ไลก้า Made in Germany นั่นละก็บวกเพิ่มขึ้นไปอีก 25% แต่โอกาสที่จะจ๊ะเอ๋กับกล้องนี่สิ ท่านอาจจะต้องรอนานถึงประมาณ 10 ปี จึงจะพบได้สักครั้งหนึ่ง และยิ่งถ้าเป็นรุ่นที่มีการจารึกคำว่า “Betriebsk” ให้บวกเพิ่มขึ้นไปอีก 200% ได้เลย
ย้อนไปดูตอนที่ 1 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่
ย้อนไปดูตอนที่ 2 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่
Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 2 (ปอกเปลือก…UR-CAMERA)
ย้อนไปดูตอนที่ 3 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่
Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 3 (Leica I หรือ Leica model A)
ย้อนไปดูตอนที่ 4 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่
ย้อนไปดูตอนที่ 5 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่